วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แม่ชีเทเรซา



แม่ชีเทเรซา เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) ที่เมืองสโกเปีย จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนีย) เป็นบุตรคนสุดท้องของบิดานิโกลา (Nikola) กับมารดาเดรน (Drane Bojaxhiu) ครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายอัลเบเนีย เธอมีชื่อเดิมว่า "แอ็กเนส กอนจา โบยาจู" (Agnes Gonxha Bojaxhiu) มีบิดาเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในหลักศาสนา ซึ่งทำให้ตั้งแต่วัยเด็กแอ็กเนสชอบไปโบสถ์ฟังหลวงพ่อเทศน์มาโดยตลอด

ขณะแอ็กเนสมีอายุ 9 ปี ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) บิดาของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ความอบอุ่นภายในครอบครัวที่แอ็กเนสได้รับก็ไม่ได้ลดลง ด้วยเพราะมารดายังให้ความรักความอบอุ่นและการเลี้ยงดูที่ดีมาตลอด แอ็กเนสเติบโตขึ้นเป็นเด็กร่าเริง และมีสุขภาพดี และไม่นานต่อมาเธอก็ได้รู้จักกับประเทศอินเดีย แต่ก็ได้รู้ว่าอินเดียในขณะนั้นมีระบบสาธารณูปโภคที่ยังล้าหลังอยู่มาก มีคนยากไร้มากมายในประเทศที่ต้องทนทรมาน และเริ่มสงสัยว่า จะมีวิธีใดบ้างไหมที่เธอจะได้ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในอินเดีย ซึ่งในช่วงเวลานี้นี่เองที่แอ็กเนสเริ่มมีความคิดที่จะบวชเป็นแม่ชี

ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) แอ็กเนสตัดสินใจขออนุญาตครอบครัวเพื่อขอบวชเป็นแม่ชี ตอนแรกครอบครัวคัดค้าน แต่ต่อมาไม่กี่วันทางครอบครัวก็ยอมให้เธอบวช แอ็กเนสเดินทางไปบวชที่สำนักชีโลเรโต (Sisters of Loreto) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งการลาจากจากครอบครัวของเธอในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้เห็นหน้าของแม่และน้องสาว [4] แอ็กเนสตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาที่แม่ชีพึงได้เรียนเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดียในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนในเมืองดาร์จีลิง รัฐสิกขิม ทางเหนือของประเทศอินเดีย โดยเธอได้พักอยู่ที่สำนักชีโลเรโตที่ตั้งอยู่ที่เมืองดาร์จีลิง

พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) แอ็กเนสตัดสินใจเข้าสาบานตนเป็นแม่ชีในสำนักชีโลเรโต ในเมืองดาร์ลีจิงเป็นครั้งแรก และตอนนี้เองที่แอ็กเนสได้รับสมญาทางศาสนา (ชื่อทางศาสนา) ว่า แม่ชีเทเรซา และแม่ชีเทเรซา ได้สาบานตนครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)
หลังจากสาบานตนเป็นแม่ชีครั้งสุดท้ายแล้ว แม่ชีเทเรซาได้เข้าเป็นครูวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย ในเมืองเอนทาลี นครกัลกัตตา ไม่นาน ก็ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย พาตนเองและเหล่านักเรียนผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ที่เกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์รุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในอินเดียมาได้ด้วยดี

ภารกิจการกุศล
เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ขณะที่แม่ชีเทเรซากำลังนั่งรถไฟกลับไปยังสำนักชีที่ทาร์จีลิง ระหว่างทางเธอก็ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งเนื้อหาที่พระเจ้าพูดกับแม่ชีเทเรซาในขณะนั้น ทำให้แม่ชีเทเรซาตัดสินใจขออนุญาตไปทำงานในสลัม เพื่อช่วยเหลือคนยากจน แต่การทำแบบนั้นถ้าหากทำโดยไม่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจะถือว่ามีความผิดทางศาสนา แม่ชีเทเรซาจึงขอให้บาทหลวงใหญ่ (หัวหน้าบาทหลวง ในชุมชนหนึ่งๆ ซึ่งอาจอยู่ตั้งแต่ระดับเมือง ภูมิภาค หรือประเทศ จะมีเพียงหนึ่งท่าน) ขอร้องไปยังพระสันตะปาปา ให้อนุญาตแม่ชีเทเรซาเป็นกรณีพิเศษ

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) แม่ชีเทเรซาได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้ไปทำงานในสลัมได้ แต่ก่อนนั้นต้องให้มีความรู้เพียงพอเสียก่อน ซึ่งเธอก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาพยายาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองปัตนา รัฐพิหาร เมื่อศึกษาจบแม่ชีเทเรซาก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนกลางแจ้งในสลัม มีเด็กๆ ให้ความสนใจมาเรียนกันมามากมาย หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีศิษย์เก่าจากโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรียมาขอบวชเป็นผู้ช่วยแม่ชีเทเรซา โดยคนแรกที่มาขอบวช คือ "สวาชินี ดาส" เมื่อบวชแล้วได้รับสมญาทางศาสนาว่า "แม่ชีแอ็กเนส" และไม่นานก็มีศิษย์เก่ามาบวชเพิ่มอีกถึง 10 คน

ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) บาทหลวงใหญ่ได้ตั้งกลุ่มของแม่ชีเทเรซาให้เป็นองค์กรอิสระทางศาสนา มีชื่อว่า "คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า" (Missionaries of Charity) โดยแม่ชีเทเรซาได้เป็นหัวหน้าองค์กร ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาผู้คนส่วนใหญ่มักเรียกแม่ชีเทเรซาว่า คุณแม่เทเรซา (Mother Teresa)
วันหนึ่งแม่ชีเทเรซาได้คิดที่จะสร้างบ้านหลังหนึ่ง เพื่อให้ผู้หิวโหยที่นอนรอความตายอยู่ข้างถนนนั้นได้มานอนตายอย่างสงบ และด้วยเหตุนี้ท่านจึงขอยืมให้วัดกาลีของศาสนาฮินดูใช้เป็น "บ้านของผู้รอความตาย" (Home for the Dying) โดยเริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) แต่ชาวฮินดูพอสมควรที่ไม่เห็นด้วยกับการที่คุณแม่เทเรซาซึ่งเป็นชาวคริสต์ จะมาใช้วัดของชาวฮินดูเป็นสถานที่ แต่เมื่อผู้บัญชาการตำรวจเข้าไปคุยกับคุณแม่เทเรซา ก็ได้ผลสรุปว่าคุณแม่เทเรซายังใช้สถานที่วัดกาลีอยู่ได้ต่อ
เมื่อปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านให้แก่คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า เพื่อให้ทางคณะฯ ได้ใช้งานบ้านให้เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่เทเรซาและส่วนรวม คุณแม่เทเรซาได้ตัดสินใจใช้บ้านหลังนี้ในการรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตั้งชื่อว่า "บ้านเด็กใจบุญ" (Children's Home of the Immaculate Heart)

พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) คุณแม่เทเรซาเริ่มใช้รถพยาบาลเคลื่อนที่ออกรักษาผู้ป่วยที่เป็นชาวไร่ชาวนา โดยโรคที่ชาวไร่ชาวนาป่วยมากที่สุดคือ โรคเรื้อน แต่ในช่วงนั้นสังคมอินเดียยังมองเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงคิดว่าคนเองไม่มีค่า คุณแม่เทเรซาจึงเริ่มคิดถึงปัญหานี้

พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) ที่ทำการของแม่ชีเทเรซาที่อยู่นอกประเทศอินเดียเริ่มเปิดทำการ มีทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย
ไม่กี่ปีต่อมา ผู้ว่าการรัฐเบงกอลตะวันตกได้ให้คุณแม่เทเรซายืมใช้แปลงที่ดินที่เมืองอาซันซอลขนาด 140,000 ตารางเมตร (ประมาณ 87.5 ไร่) เพื่อให้ใช้เป็นสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน คุณแม่เทเรซาได้แบ่งสรรที่ดินไว้อย่างลงตัว แต่ไม่มีเงินจะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ได้ออกแบบไว้ คุณแม่เทเรซานั่งครุ่นคิดอยู่สักพักก็นึกขึ้นได้ว่าพระสันตะปาปาเคยมอบรถยนต์เปิดประทุนสีขาวบริสุทธิ์ชั้นดี ถ้าขายเฉยๆ จะได้ราคา 100,000 รูปี (ประมาณ 400,000 บาท) แต่นั่นยังไม่เพียงพอ คุณแม่เทเรซาตัดสินใจทำสลาก โดยเอารถคันนั้นเป็นรางวัล ทำสลาก 5,000 ใบ ขายสลากใบละ 100 รูปี (ประมาณ 400 บาท) ใครถูกรางวัลจะได้รับรถพระสันตะปาปาไป การขายสลากแบบนี้ คณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซา ได้รับเงินถึง 500,000 รูปี (ประมาณ 2,000,000 บาท) ในที่สุดคณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซาก็ได้สร้างที่ดินขนาดกว่า 80 ไร่ ให้เป็นหมู่บ้านในฝันของผู้ป่วยโรคเรื้อนได้สำเร็จใน พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านสันติสุข" มีทั้งโรงพยาบาลและที่อยู่ทั้งสำหรับเหล่าแม่ชีและเหล่าผู้ป่วย มีผู้ป่วยโรคเรื้อนขอเข้ารับการรักษาที่หมู่บ้านสันติสุขนี้มากกว่า 15,000 คน

ไม่นานหลังจากนั้น แม่ชีเทเรซา ก็เปิดที่ทำการอีกแห่งหนึ่ง คราวนี้เป็นการนำกาบมะพร้าวมีรีไซเคิล โดยนำใยมะพร้าวด้านในมาผลิตเป็นสินค้า ตั้งแต่แปรงขัดหม้อ จนถึงพรมนุ่มๆ สินค้าบางชิ้นมีคุณภาพดี ก็สามารถนำไปขายในเมืองได้
ไม่นานต่อมา คุณแม่เทเรซาเมื่อรู้ว่า สายการบินต่างๆ จะจัดการอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือโดยการทิ้งทั้งหมด จึงไปขอให้บริษัทสายการบินแอร์อินเดีย มอบอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือมาเป็นอาหารแก่เด็กๆ ใน บ้านเด็กใจบุญ

ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) คุณแม่เทเรซาได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในฐานะ "สำหรับการอาสาต่อสู้เพื่อลดความยากจนทุกข์ยากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความสงบสุขและสันติ" (for work undertaken in the struggle to overcome poverty and distress, which also constitute a threat to peace.) นอกจากนี้ คุณแม่เทเรซาปฏิเสธงานเลี้ยงฉลองที่ท่านได้รับรางวัลโนเบล และขอใหผู้ที่ทำเค้กฉลองมาแล้ว นำเค้กไปมอบให้คนยากคนจน

คุณแม่เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ซึ่งก็ได้ตระเวนปราศรัยไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ เนื้อหาส่วนใหญ่คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การรังเกียจคนจรจัด การกลั่นแกล้งประทุษร้ายกันในญี่ปุ่น
พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) อิสราเอลมีสงครามกับองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ จนเกิดการสู้รบรุนแรงในแถบเอเชียตะวันตก คุณแม่เทเรซาก็เดินทางเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดค้างในสถานที่ต่างๆ มาได้ 37 คน
แม่ชีเทเรซา รับของขวัญจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985)

บั้นปลายชีวิต
พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ขณะคุณแม่เทเรซาไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในอิตาลี ทานก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีอาการกำเริบครั้งแรก โดยมีหัวใจเต้นอ่อนเกินไป แต่ปลอดภัย หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซาก็ทำงานอยู่เหมือนปกติ แต่อาการโรคหัวใจก็มาเยือนอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุด คุณแม่เทเรซา ได้ยื่นจดหมายต่อพระสันตะปาปา ว่า ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า พร้อมกับอยากให้มีการเลือกตั้งขึ้นเพื่อเลือกผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งจากตน ตอนแรกเหล่าแม่ชีต่างคัดค้าน แต่เมื่อรู้ว่าคุณแม่เทเรซาจะให้จัดการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง จึงเทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา แล้วผลการเลือกตั้งก็คือ คุณแม่เทเรซาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นหัวหน้าคณะฯ อีกครั้ง
การทำงานของท่านก็มีอาการโรคหัวใจกำเริบมารบกวนท่านบ่อยขึ้น อาการป่วยในระดับหนักมากเกิดขึ้นกับแม่ชีเทเรซาอีกใน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และอีกครั้งใน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซา ก็ป่วยหนักถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกนั่งไม่ได้

เมื่อคุณแม่เห็นว่าตนคงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้าอีกครั้ง ครั้งนี้เหล่าแม่ชีเห็นว่า คุณแม่เทเรซาควรได้พักผ่อน เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย จึงไม่คัดค้านในการลาออกของคุณแม่เทเรซา และไม่เทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา เพื่อให้คุณแม่ได้พักรักษาตัวไม่ต้องมีภารกิจ ดังนั้นแม่ชีนิรุมาราได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้าแทนคุณแม่เทเรซา

5 เดือนครึ่งต่อมา ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) คุณแม่เทเรซาได้เสียชีวิตลงที่บ้านของคุณแม่ในอินเดีย ขณะอายุ 87 ปี กับอีก 10 วัน โดยคำพูดคำสุดท้ายที่คุณแม่ได้พูดออกมาคือ "หายใจไม่ออกแล้ว" ทางการอินเดียได้จัดพิธีศพของคุณแม่เทเรซาอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานศพระดับชาติ (งานศพของบุคคลที่ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อประเทศนั้นๆ) ของทางการอินเดีย
ในช่วงเวลาที่คุณแม่เสียชีวิต คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้ามีแม่ชีมากว่า 4,000 คนและอาสาสมัครกว่าอีก 1 แสนคน ซึ่งอัตรานี้ครอบคลุมไปถึงกว่า 610 แห่ง 123 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันร่างของแม่ชีนอนหลับอยู่ที่บ้านคุณแม่ในอินเดีย

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้คุณแม่เป็น นักบุญราศี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น