วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

เนลสัน แมนเดลา จากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย



“งาน ขนมปัง น้ำ และเกลือ สำหรับทุกคน”
คือสุนทรพจน์ในพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1994 ของเนลสัน แมนเดลา ที่กล่าวถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ขาดแคลนอย่างกว้างขวางในยุคเหยียดผิว (Apartheid Era) ในตอนนั้น คนผิวดำซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 79 ของประชากร 49 ล้านคนของแอฟริกาใต้ถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง คนผิวดำส่วนใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในดินแดนที่กำหนดให้เป็นเขตพักอาศัยของคนผิวดำ (homeland) ขณะที่คนผิวดำอีกหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองคนผิวดำนอกดินแดนที่กำหนดไว้ และเป็นแรงงานสำคัญในภาคเศรษฐกิจ ต้องพกพาหนังสือผ่านทางติดตัว การเลือกตั้งทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของแอฟริกาใต้ ซึ่งทำให้เนลสัน แมนเดลา ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี นำไปสู่การยกเลิกดินแดนที่กำหนดไว้เหล่านั้น และจัดตั้งแคว้นทั้งเก้าขึ้น อันได้แก่ เกาเต็ง ควาซูลู-นาตาล อีสเทิร์นเคป ลิมโปโป เวสเทิร์นเคป อึมพูมาลังกา นอร์ทเวสต์ ฟรีสเตต และนอร์เทิร์นเคป เพื่อช่วยหล่อหลอมและประสานรอยร้าวของชาติพันธุ์ต่างๆ

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีหลังการล่มสลายของระบอบเหยียดผิว แอฟริกาใต้มีประธานาธิบดีผิวดำมาแล้วสามคน ได้แก่ เนลสัน แมนเดลา, เทโบ เอ็มเบกี และเจค็อบ ซูมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ประเทศนี้ต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับมรดกแห่งความเกลียดชังและการกดขี่ทางเชื้อชาติมาตลอด เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความจริงและความสมานฉันท์หรือ ทีอาร์ซี (Truth and Reconciliation Commission: TRC) ซึ่งเป็นองค์กรคล้ายศาลที่ไม่เพียงทำหน้าที่รับฟังและไต่สวนคดีความและข้อพิพาทต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากนโยบายเหยียดผิว แต่ยังทำหน้าที่ให้คำแนะนำเพื่อการเยียวยาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอีกด้วย
ในระยะแรกๆ หลังการยกเลิกระบอบเหยียดผิว ชาวแอฟริกาใต้ต้องอกสั่นขวัญแขวนกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์และพวกหัวรุนแรงที่ต้องการแก้แค้น หรือต่อต้านการล้มเลิกนโยบายเหยียดผิว แม้ในทุกวันนี้ หากดูเผินๆ จะเห็นว่าแอฟริกาใต้พัฒนาไปมากในทางเศรษฐกิจ แต่เพียงลอกผิวหน้าของชุมชนไม่ว่าที่ไหนออก เราจะพบเห็นเรื่องราวที่สะท้อนบาดแผลจากนโยบายเหยียดผิวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2008 มีคนถูกฆ่าตายกว่า 60 คน ขณะที่อีกหลายหมื่นคนต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ หลังเกิดการจลาจลเหยียดผิวขึ้นหลายครั้งโดยพุ่งเป้าไปยังชาวโมซัมบิกและชาวซิมบับเวเป็นหลัก นโยบายเหยียดผิวทำให้ความไม่ไว้วางใจใน “คนที่แตกต่างจากเรา” ฝังรากลึก และทัศนคติที่ว่าสิทธิในทรัพยากรของประเทศขึ้นอยู่กับสีผิวหรือชาติพันธุ์ของคุณ มากกว่าสิ่งที่คุณทำให้แก่ประเทศชาติ ยังคงติดตามหลอกหลอนอยู่จนทุกวันนี้

ผลกระทบอันลึกล้ำกว้างไกลและความโหดร้ายของนโยบายเหยียดผิวไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเกินเลยความจริง นับตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1994 ซึ่งเป็นปีที่นโยบายเหยียดผิวถูกล้มเลิก พรรคชาตินิยมแอฟริคาน (Afrikaans National Party) นำมาตรการแบ่งแยกชาติพันธุ์อย่างเข้มข้นมาบังคับใช้กับทุกแง่มุมชีวิตของประชาชน ทเชโป แมดลินโกซี อาจารย์อาวุโสด้านกฎหมายวัย 31 ปีจากมหาวิทยาลัยพริทอเรียและผู้ประสานงานด้านกฎหมายของกลุ่มสงเคราะห์คูลูมานี องค์กรช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากความรุนแรงทางการเมือง 58,000 คน กล่าวว่า

“การเหยียดผิวทำให้คนจำนวนหยิบมือร่ำรวยมหาศาล ขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส นี่ยังไม่พูดถึงการจับกุมคุมขังผู้คนจำนวนมาก การเนรเทศ การหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ และการเสียชีวิตอย่างโหดร้าย กระทั่งการล้มเลิกนโยบายนี้ไปเฉยๆไม่อาจเยียวยาความเสียหายได้เลย บางคนอาจพูดว่าทุกคนเสมอภาคกันหมดแล้วตอนนี้ ทำไมเราไม่ลืมเรื่องเก่าๆ แล้วเดินหน้ากันต่อเถิด ก็พูดได้สิสำหรับพวกที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยกับการคืนความเป็นธรรม และไม่สามารถล้มล้างทัศนคติเหยียดผิวที่ฝังรากลึก ความจงเกลียดจงชังที่ท่วมท้นล้นอก หรือความรู้สึกของความอัตคัตขาดแคลน”

ส่วนคุณหมอมาร์จอรี จ็อบสัน ผู้อำนวยการระดับชาติของกลุ่มสงเคราะห์คูลูมานี บอกว่า
“พอถึงปี 1994 ทุกคนก็เหนื่อยหน่ายจนเอือมระอาแล้ว ฉันคิดว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่อยากเห็นการยกเลิกนโยบายเหยียดผิว และให้รัฐบาลจัดการแก้ไขทุกอย่าง แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น ฉันคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับชาวแอฟริกาแต่ละคนที่จะมีส่วนร่วมลงมือทำอะไรในการชดใช้ความผิดหรือล้างบาปที่เราร่วมกันก่อขึ้น นี่แหละค่ะพลังของปัจเจกบุคคล เราแต่ละคนมีพลังอำนาจที่จะสืบทอดอดีตอันโหดร้ายรุนแรงต่อไป หรือจะใช้อำนาจนั้นในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสงบสุข”

กฎหมายแอฟริกาใต้ให้การรับรองการแบ่งแยกและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันมาช้านาน บัดนี้ รัฐธรรมนูญของประเทศเชิดชูศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของปวงชน แต่อำนาจของรัฐธรรมนูญจะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เท่าที่ผู้คนเต็มใจจะปฏิบัติตาม คำพูดของเนลสัน แมนเดลาหลังจากที่คนหนุ่มสาวในเมืองโซเวโทลุกฮือขึ้นต่อต้านนโยบายเหยียดผิวครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 1976 ยังคงแว่วเตือนและตอกย้ำความจริงว่า

“เราประสบความสำเร็จมากโขอยู่ แต่ยังมีอีกมากที่เราต้องทำต่อไป”

แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง การที่แอฟริกาใต้ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 ช่วยปลุกเร้าความรู้สึกมั่นใจของผู้คน ต่อจากนี้ประเทศของพวกเขาจะได้รับการจดจำในฐานะประเทศที่จัดการแข่งขันฟุตบอลให้คนทั้งโลกเฝ้าชม มากกว่าประเทศที่มีตราบาปเรื่องนโยบายเหยียดผิว โครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ของแอฟริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินทันสมัยจนน่าอิจฉา หรือร้านอาหารนานาชาติ รูปลักษณ์ที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกเหล่านี้มีส่วนทำให้ หลายคนเชื่อว่าประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ในโซเวโท ย่านเมืองของโจฮันเนสเบิร์ก ที่มักตกเป็นข่าวอื้อฉาวเพราะเหตุรุนแรงในยุคเหยียดผิว บัดนี้กลายเป็นชานเมืองที่สวยงามน่าอยู่ (สลัมตามชายขอบยังพบเห็นอยู่บ้างก็จริง) แอฟริกาใต้มีชนชั้นกลางผิวดำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่ปี 1994 รัฐบาลได้สร้างบ้านพักอาศัยไปเกือบสามล้านหลังแล้ว เพียงแค่ข้ามถนนจากกาสิโนและสวนสนุกในโจฮันเนสเบิร์ก นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์การเหยียดผิว (Apartheid Museum) อันน่าทึ่งได้

เรื่องโดย อเล็กซานดรา ฟุลเลอร์ ภาพถ่ายโดย เจมส์ แนชต์เวย์

ที่มา : http://www.ngthai.com/ngm/1006/feature.asp?featureno=5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น