วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ดนตรีคลาสสิค : รสนิยมกับอำนาจ



คอลัมน์เวิ้งวิภาษ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2554
อติภพ ภัทรเดชไพศาล


เมื่อหลายอาทิตย์ที่แล้วผมได้ชมข่าวช่วงบันเทิงเทศของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจากการรับชมทาง youtube.com ซึ่งในข่าวมีการพูดถึงบทบาทของรัฐบาลจีนในการสนับสนุนดนตรีคลาสสิค และแทรกด้วยบทสัมภาษณ์คุณประภัสสร เสวิกุลและผู้เชี่ยวชาญดนตรีคลาสสิคบางคนถึงกรณีนี้ (ดู http://www.youtube.com/watch?v=9RFkrEIpaWk)


คุณประภัสสรทำให้ผมแปลกใจมากตรงที่บอกว่ารัฐบาลจีนส่งเสริมดนตรีคลาสสิค ในขณะที่จำเป็นต้องปิดกั้นดนตรีป๊อป เพราะดนตรีป๊อปเป็นสิ่งที่รับช่วงอารยธรรมหรือวัฒนธรรมของตะวันตกมากไป



ก็ดนตรีคลาสสิคนั้นไม่ใช่อารยธรรมหรือวัฒนธรรมตะวันตกหรืออย่างไร?


แต่อย่างไรก็ตามการให้สัมภาษณ์นั้นเห็นได้ชัดว่ามีการตัดต่อ และจริงๆ แล้วคุณประภัสสรก็อาจมีคำอธิบายบางอย่างที่สมเหตุสมผลมาขยายความความข้อนี้ก็เป็นได้ เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาออกอากาศเท่านั้น


แต่จากรายการสั้นๆ เพียงห้านาทีนี้ ผมคิดว่าผู้เสนอข่าวหรือผู้ให้สัมภาษณ์คนใดก็ตาม ดูเหมือนจะลืมหรือจงใจที่จะไม่พูดถึงความเป็นตะวันตกของดนตรีคลาสสิคเลยสักนิดเดียว ซึ่งสาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็คงจะอย่างที่รู้ๆ กัน คือคนจำนวนมากในสังคมไทยมักถูกครอบงำอยู่ด้วยความคิดที่ว่าดนตรีคลาสสิคเป็นของ “สากล” และดีสำหรับทุกชนชาตินั่นเอง


แนวคิดเรื่องความเป็น “สากล” ของดนตรีตะวันตกเป็น myth ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระยะเวลายาวนานกว่าร้อยปี หรืออาจจะเป็นพันปีถ้าเราจะเริ่มด้วยความเชื่อที่ว่า สัดส่วนของบันไดเสียงดนตรีตะวันตกนั้นสร้างขึ้นมาจากกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติ ซึ่ง Pythagoras เป็นผู้ให้คำอธิบายเป็นคนแรกๆ ว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอยู่กับสัดส่วนทางธรรมชาติและจักรวาลนั่นเลยทีเดียว


ดนตรีคลาสสิคที่มีรากฐานมาจากดนตรีในโบสถ์คริสต์ เมื่อผนวกเข้ากับภูมิปัญญาแบบกรีกโบราณ จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนธรรมดาไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะในสมัยแรกๆ นั้นถึงกับมีการกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการร้องเพลงในโบสถ์ด้วยซ้ำ


การแต่งเพลงคลาสสิคไม่ใช่สิ่งที่บุคคลทั่วๆ ไปจะทำได้ ดังจะเห็นได้จากนักแต่งเพลงคลาสสิคคนแรกของโลกคือ Hildegard von Bingen ที่เป็นถึงแม่ชีคนสำคัญและมีบทบาทอยู่ในศาสนจักรเป็นอย่างมาก (ดังนั้นจึงข้ามพ้นข้อห้ามที่เกี่ยวกับความเป็นเพศหญิงไปได้) โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีของ Gregorian Chant (เพลงสวดบทแรกๆ ของโลกตะวันตกที่มีการบันทึกไว้) ที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าจดบันทึกโดยพระสันตปาปาเกรกอรีด้วยซ้ำ


กฏเกณฑ์มากมายในการแต่งเพลงคลาสสิคเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้แน่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ดนตรีคลาสสิคจะมีบทบาทอยู่แต่ในวัด (โบสถ์) กับในวังเท่านั้นเอง


บางคนอาจจะอ้างกรณีของ Mozart ว่าได้แต่งเพลงหรือ opera เกี่ยวกับสามัญชนไว้เหมือนกัน และมีการบรรเลงในโรงละครเก็บเงินที่ประชาชนทั่วๆ ไปก็สามารถชมได้


แต่คำว่า “ประชาชน” ทั่วๆ ไปที่ชมงานของ Mozart นั้นก็ไม่ใช่ตาสีตาสาแน่ๆ ผู้ชม opera ของ Mozart นั้นเป็นประชาชนในแง่ของ “ชนชั้นกลาง” หรือ bourgeois ที่เป็นชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่ในตอนนั้น และมีบทบาทในสังคมที่ตีเสมอขึ้นมากับชนชั้นเจ้านายเก่าๆ ต่างหาก


ดนตรีคลาสสิคจึงไม่เคยเป็นของ “ประชาชน” ส่วนใหญ่อย่างแท้จริงมาก่อน แม้จนกระทั่งในปัจจุบัน (ราคาบัตรคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคทั่วๆ ไปอย่างถูก เฉลี่ยก็อยู่ที่ราวๆ 500 บาทต่อที่นั่ง - ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ราคาที่คนหาเช้ากินค่ำทั่วๆ ไปจะซื้อได้อยู่แล้ว)


ดนตรีคลาสสิคชนิดที่พอจะเรียกได้ว่าเข้าถึง “ประชาชน” มากที่สุดนั้นก็คือดนตรีคลาสสิคที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ Hollywood ซึ่งก็เป็นดนตรีคลาสสิคที่ถูกจับโยนออกมาจากบริบทดั้งเดิมของมัน และถูกทำให้กลายเป็นรสนิยมสาธารณ์แบบป๊อปๆ ไปแล้ว


แต่คนส่วนมากก็คงไม่พอใจที่จะนั่งฟังเพลงแบบนี้โดยไม่มีภาพประกอบแน่ๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เห็นกันมาตลอดว่าดนตรีคลาสสิคไม่ใช่รสนิยมของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ชอบฟังดนตรีคลาสสิคจริง ป่านนี้เราคงมีสถานีวิทยุที่จัดแต่เพลงคลาสสิคเป็นร้อยๆ รายการไปแล้ว


นับตั้งแต่ขั้นตอนการแต่งเพลง ไปจนถึงการกำกับวงดนตรีอย่าง orchestra เห็นได้ชัดว่าดนตรีคลาสสิคมีบุคลิกแบบเผด็จการอำนาจนิยม คือเน้นที่ความถูกต้อง ความพร้อมเพรียง และการตีความเพลงโดย conductor เพียงคนเดียวเบ็ดเสร็จ


ลักษณะเผด็จการนี้มาคู่กันกับความเป็น elite (เงินค่าตอบแทนของ conductor เพียงคนเดียวในการกำกับวง orchestra นั้นอยู่ในระดับหลายแสนถึงหลายล้านในแต่ละคอนเสิร์ต) การจัดงานเลี้ยงหลังคอนเสิร์ตนั้นเป็นวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูงตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย นับตั้งแต่การแต่งกายแบบสากลนิยม ใส่สูทแต่งชุดราตรีของผู้ร่วมงาน ไปจนถึงการเปิดไวน์ขวดละหลายหมื่นหลายแสน อาหารตะวันตกชั้นดีจากโรงแรมห้าดาวนั้นอยู่คู่กับงานเลี้ยงหลังคอนเสิร์ตประเภทนี้จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ


(ในการแสดงคอนเสิร์ต SONG OF THE NIGHT ซิมโฟนีหมายเลข 7 โดย กุสตาฟ มาห์เล่อร์ ของ สยาม ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตร้า ในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จำหน่ายบัตรในราคาที่นั่งละ 600, 800 และ 1,200 บาท โดยมีบัตรพิเศษชนิดหนึ่ง ชื่อว่าบัตรพิเศษ “เทวทูตกุสตาฟ” จำหน่ายในราคาที่นั่งละ 5,000 บาท โดยระบุว่าผู้ที่ซื้อบัตรชนิดนี้จะสามารถเข้าร่วมในงานเลี้ยงหลังคอนเสิร์ตได้ด้วย)



การผลักดันดนตรีคลาสสิคให้เป็นวาระแห่งชาติ “เพื่อประชาชน” อย่างฝืนความจริงจึงทำได้เพียงในประเทศเผด็จการสังคมนิยมอย่างโซเวียตหรือจีน (ที่มีสิทธิ์ขาดในการควบคุมสื่อและทิศทางเศรษฐกิจ) เท่านั้น แต่การกระทำเช่นนั้นก็ย่อมเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งในตัวเองเชิงอุดมคติ เพราะดนตรีคลาสสิคซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูงนี้ ย่อมขัดกับระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย


ทัศนคติของคนทั่วๆ ไปในสหภาพโซเวียต (เมื่อสมัยที่ยังเป็นสังคมนิยม) ที่มีต่อนักแต่งเพลง-นักดนตรีคลาสสิค จึงเป็นทัศนคติครึ่งๆ กลางๆ ที่ทั้งนับถือยกย่องและดูถูกดูแคลนไปพร้อมๆ กัน


และเอาเข้าจริงๆ ผมว่าในกรณีของจีนหรือเกาหลีที่ถูกนำเสนอในข่าวนั้น ก็เป็นเพียงการกระทำที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญเท่านั้นเอง โดยที่คงไม่ได้มีความคิดที่จะยกย่องเชิดชูศิลปะการดนตรีอะไรมาเกี่ยวข้องด้วยสักเท่าไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น