วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทำไมคนเราถึงต้องเรียนดนตรี? : โดย พี่แบงค์

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน คนเขียนไม่ได้อัพฯมาสักพักล่ะ เลยกลับมารีบอัพฯ อย่างเร็วไว อิอิ
วันนี้คนเขียนขอนำเสนอบทความดีๆ จากนักดนตรีคนหนึ่ง นะคะ

คนเขียนได้รู้จักเขาในนาม "พี่แบงค์" (M.Kimura Cantabile : in facebook)

พอดีเขาได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา ซึ่งคนเขียนมีความสนใจ จึงนำมาแบ่งปัน ณ ที่นี้ค่ะ ^ ^

ทำไมคนเราถึงต้องเรียนดนตรี

ทำไมคนเราถึงต้องเรียนดนตรี ทั้งๆ ที่ดูเหมือนศาสตร์ในสาขานี้จะไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตแม้แต่น้อย ไม่เหมือนศาสตร์ในสาขาอื่นที่ล้วนเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ของมนุษย์ หากเราได้ย้อนดูถึงต้นตอของศาสตร์ทุกแขนงในโลกนี้ ล้วนถูกศึกษาและคิดค้นเพราะเชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ได้ แรกเริ่มจากศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของมนุษย์, ดาราศาสตร์ เพื่อคำนวณฤดูกาลเพาะปลูก และตามมาด้วยศาสตร์อีกมากมาย ฉะนั้นแล้วดนตรีศาสตร์ในตรรกะเดียวกันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ ใช้เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ หากดนตรีไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษย์หรือเป็นการศึกษาไปตามกระแส ดนตรีคงเป็นแค่ศาสตร์ลวงโลกเท่านั้น

การเรียนดนตรีนั้น คือ การเรียน ดนตรี อย่างจริงจัง อันประกอบไปด้วย การปฏิบัติ ทฤษฏี การทราบที่มา และการนำไปประยุกต์ใช้ การปฏิบัตินั้นก็คือ การเล่น ทฤษฏี คือ การเรียนทฤษฏี อย่างเช่น การทราบโครงสร้างคอร์ด ขั้นคู่ เป็นต้น การทราบที่มา คือ การเรียน ประวัติของดนตรีนั้นเอง ว่า ดนตรี ประเภทนั้นๆ มาจากไหน อย่างไร อาทิเช่น ประวัติดนตรีคลาสิค ประวัติดนตรีแจ๊ส เป็นต้น

การนำไปประยุกต์ใช้ คือ การนำทุกอย่างที่เรียนมามาผสมกัน เช่น นำการปฏิบัติมาบันทึกเสียง หรือ การนำทฤษฏี และที่มา มาแต่งเป็น บทเพลงใหม่

เรียนดนตรี มีอะไรมากกว่าที่คิด เป็นประโยคที่ช่วยบอกให้เรารู้ว่าดนตรีมีประโยชน์มากมายซ่อนอยู่ นอกจากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สร้างความไพเราะ สร้างความเพลิดเพลิน ฝึกความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้แล้วยังซ่อนประโยชน์ที่ซับซ้อนและมีค่าเรียกได้ว่ามหาศาลอย่างคาด ไม่ถึงเมื่อเราย้อนกลับมาดูว่าการเรียนดนตรีได้อะไรบ้าง ในระดับผิวเผิน คือใช้เป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องได้ แต่ในโลกนี้ก็มีอาชีพนักดนตรีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ หากเรามองลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง การเรียนดนตรีนอกจากเป็นการเพิ่มเสน่ห์ในการเข้าสังคมกับผู้เรียนแล้ว ยังเป็นกลอุบายในการฝึกทักษะพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างดี เช่น ความอดทน วินัย สมาธิ สติ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์พัฒนาด้านอารมณ์ พัฒนาด้านภาษา พัฒนาด้านร่างกาย พัฒนาด้านปัญญา พัฒนาด้านความเป็นเอกบุคคลพัฒนาด้านสุนทรียะซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในสาขาอาชีพอะไรก็ตาม ผู้ที่ศึกษาดนตรีอย่างแท้จริงและได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง คือผู้ที่ศึกษาดนตรีเพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เรียนไปเพื่อประกอบอาชีพ แต่เรียนเพื่อ เป็นงานอดิเรก เพราะ ดนตรีนั้นช่วยลดความเครียด ทำให้ผ่อนคลายจากการทำงานหรือเรียนมา อีกทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำให้เยาวชนไทยไม่ต้องไปมั่วสุมกับสิ่งชั่วร้ายอย่างอื่น หรือเรียนเพื่อเป็นวิชาประดับความรู้ ถ้าวิชาต่าง ๆ เปรียบได้กับเสื้อผ้า ดนตรีคงเป็นเหมือนกับเครื่องประดับคือ แหวน สร้อย ที่ช่วยเสริมให้คนคนนั้นดูเด่นเป็นสง่าขึ้น ซึ่งก็คือนอกจากจะมีความรู้ในวิชาที่ตนเองเรียนอยู่แล้วยังสามารถเล่นดนตรี ได้อีก ไปต่างประเทศ ก็สามารถนำไปแสดงโชว์ได้อีกด้วย ทั้งเรียนเพื่อพัฒนาสมอง ซึ่งดนตรีช่วยพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและขวา อีกทั้งเรียนเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนดนตรีคือ การฝึกซ้อมและความตั้งใจ การเรียนดนตรีนั้นเป็นทักษะด้านการปฏิบัติ ดังนั้น ยิ่งซ้อม ก็ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งทำได้ดีขึ้น หากผู้เรียนยิ่งฝึกซ้อมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพัฒนาฝีมือได้มากเท่านั้น และยิ่งผู้เรียนพัฒนาขึ้นเท่าไหร่ก็เท่ากับว่าครูประสบความสำเร็จในการสอน มากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เรียนสามารถพัฒนาได้เก่งมากกว่าครูผู้สอน ก็ยิ่งเป็นความสำเร็จสูงสุดอย่างแท้จริงในการเรียนดนตรีของทั้งผู้สอนและผู้เรียน

ที่มา : http://www.facebook.com/profile.php?id=1305661200&ref=ffl#!/notes/kimura-cantabile/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5/259179497429006

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น