วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒



"วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในอดีตที่สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทมจนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่นและระทมทุกข์ จากชาิติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์จะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เปรียบเสมือนสองกษัตริย์ "ทวิราช" ที่สูญเสียเศวตฉัตรแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และเป็นที่ทราบกันดีว่าวิฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ในครั้งนี้ ได้เป็นจุดเริ่มแห่งความเจ็บช้ำในพระทัยต่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์และทรงจดจำมิลืมเลือน จึงทรงสักยันต์ ตราด ร.ศ.๑๑๒ ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดจากเหตุการณ์ในกาลนั้น

"วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒" (เอกสารภาษาอังกฤษเรียกว่า Franco-Siamese War หรือ "สงครามฝรั่งเศส-สยาม") เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน)
ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส


"วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" เกิดขึ้นในปีมะเส็ง เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖(ร.ศ.๑๑๒) หกเดือนหลังจากพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์


ได้เกิด " วิกฤติการณ์ปากน้ำ" " กรณี ร.ศ.๑๑๒" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองอินโดจีน อันประกอบด้วย โคชิน ตังเกี๋ย อันนัม กัมพูชา และบางส่วนของลาวมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔

ต่อมาฝรั่งเศสก็อ้างว่าดินแดนของลาวเคยเป็นสิทธิของเวียดนาม (เจ้าอนุวงศ์เคยทำสัญญายกเมืองลาวให้เวียดนามเพื่อขอลี้ภัยการเมือง ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในสมัยรัชกาลที่ ๓) และในเมื่อเวียดนามเป็นดินแดนในคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรที่แผ่นดินลาวต้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสด้วย

รัฐบาลสยามจึงได้ส่ง พลตรีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (พระองค์เจ้าชายทองก้อนทองใหญ่) ให้ขึ้นไปตั้งกองบัญชาการลาวพวน อยู่ที่เมืองหนองคาย เพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส

๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ร.ศ.๑๑๒ มองซิเออลุซ ชาวฝรั่งเศส คุมทหารญวนในสังกัดฝรั่งเศสเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำมวน เมืองหน้าด่าน ราชอาณาเขตสยาม โดยมี พระยอดเมืองขวาง เป็นข้าหลวงรักษาเมือง ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองคำมวน และจับ พระยอดเมืองขวาง และพวกเอาไว้ แต่มีทหารเข้ามาช่วย พระยอดเมืองขวางและพวกเอาไว้ และได้ฆ่าทหารฝรั่งเศส เหลือรอดกลับไปเพียง ๓ คน (บางแหล่งระบุว่า มิไ้ด้ต่อสู้ขัดขวาง เพราะเกรงกระทบไมตรีระหว่าง สยามกับฝรั่งเศส)

รัฐบาลสยามได้พยายามประท้วงไปทางฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เป็นผล ฝรั่งเศสยืนกรานว่าเมืองคำมวนเป็นของฝรั่งเศส และพระยอดเมืองขวาง คือผู้บุกรุก โดยพระยอดเมืองขวาง พร้อมทหารและอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในเขตยึดครองของฝรั่งเศส การที่จับพระยอดเมืองขวาง นั้นชอบแล้ว มองซิเออร์ ออกุสต์ ปาวี ยื่นประท้วงโดย "ให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย" เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่คดีประวัติศาสตร์ "คดีพระยอดเมืองขวาง" และ "วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" ในเวลาต่อมา
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ทหารญวน เขมรในสังกัดของฝรั่งเศส ก็ได้ยกเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงล่องปากเจ้าพระยาเข้ามายังพระนคร โดยอ้างว่า เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในสยาม (ตอนนั้นมีชาวฝรั่งเศสอยู่ในสยามเพียง ๓ คน และไม่มีกิจการค้าใดๆ อันเป็นผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง)

ผลของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายไทยจำต้องยอมยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยายอิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และจะนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมา



ที่มา : http://www.abhakara.com/index.php?option=com_content&view=article&id=25&Itemid=28

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_%E0%B8%A3.%E0%B8%A8._112

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น