วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รู้หรือไม่ ท้าวทองกีบม้า เจ้าของสูตรขนมไทย มีเชื้อญี่ปุ่น?!



ประวัติชีวิตในตำนานของท้าวทองกีบม้า ตามที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารต่างๆ จัดว่ามีอยู่น้อย กระจัดกระจาย และสับสนเกินกว่าจะผูกเรื่องราวชีวิตของหญิงผู้นี้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งข้อสันนิษฐานที่อ้างว่าท้าวทองกีบม้าผู้นี้คือต้นคิดขนมไทยตำรับโปรตุเกส รวมไปถึงนามบรรดาศักดิ์ "ท้าวทองกีบม้า" ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานเอกสารใดๆ ที่อ้างอิงไว้อย่างชัดเจนว่า มารี กีมารด์ คือเจ้าของนามบรรดาศักดิ์ ท้าวทองกีบม้า คนแรก
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแนวคิด และการตีความของนักวิชาการในชั้นหลังทั้งสิ้น
ประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้าจะไม่มีความชัดเจน เนื่องจากถูกบดบังไปกับประวัติชีวิต และงานของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ดีหลักฐานจากบันทึกในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ก็ได้ทิ้งเบาะแสไว้ให้แกะรอยท่านผู้หญิงหมายเลขหนึ่งท่านนี้
เวลาที่ฟอลคอนเรืองอำนาจในสยาม และยามตกอับ เพียงพอให้เห็นเงาร่างของท้าวทองกีบม้าได้พอสมควร

ท้าวทองกีบม้าลูกใคร?ประวัติท้าวทองกีบม้าในเอกสารหลายฉบับทั้งในภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ มีความสับสนจนถึงคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง "พ่อ" ของท้าวทองกีบม้า กับภาคภาษาไทยที่สับสนในคำว่า Grandmother ว่าควรจะเป็น "ยาย" หรือ "ย่า" มากกว่ากัน ความสับสนนี้ทำให้เกิดบทสรุปในชีวิตของท้าวทองกีบม้าผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของชาติกำเนิด
ต้นสกุลลึกที่สุดที่มีหลักฐานปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ต้นสกุลคือ อิกเนซ มาร์แตงซ์ (Ignez Martinz) แต่งงานกับชาย "ชาวญี่ปุ่น" ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในสยาม จากนั้นก็อนุญาตให้ "บุตรชาย" แต่งงานกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคือ อุรซุล ยามาดา (Ursule Yamada) ซึ่งพำนักอยู่ในสยามเช่นเดียวกัน แล้วก็ให้กำเนิดท้าวทองกีบม้า ในลำดับต่อมา
เท่ากับว่า อิกเนซ มาร์แตงซ์ แท้จริงคือ "ย่า" ของท้าวทองกีบม้า ในขณะที่ "บุตรชาย" ของ อิกเนซ มาร์แตงซ์ ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในบันทึกใดๆ ก็ควรจะเป็น "พ่อ" แท้ๆ ของท้าวทองกีบม้า

แต่แล้วก็ปรากฏคนชื่อ ฟานิค (Phanick) ขึ้นมา ซึ่งถูกอ้างในเอกสารหลายแห่งว่าเป็น "พ่อ" ของท้าวทองกีบม้า ที่มีบทบาทหวงลูกสาวเมื่อคราวฟอลคอนไปขอแต่งงาน ทำให้เกิดปัญหาว่า ฟานิค ผู้นี้คือใครกันแน่
จดหมายของ "อิงลิช คาทอลิก" ที่มีไปถึง หลวงพ่อปิแอร์ ดอร์เลอังส์ (Letter of "An English Catholic" to Pere d"Orleans) ระบุว่า ฟานิค เป็นคนผิวคล้ำ ลูกครึ่งระหว่างเบงกอลกับญี่ปุ่น และเป็นคาทอลิก
การที่ฟานิคถูกระบุว่าเป็นลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น จึงไม่ใช่ "บุตรชาย" ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ กับ "ชายชาวญี่ปุ่น" แน่
ในขณะที่บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอ แบส ซึ่งอ้างว่าได้พบ และพูดคุยกับอิกเนซ มาร์แตงซ์ ย่าของท้าวทองกีบม้า ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวถึงฟานิคในฐานะเป็น "พ่อ" รวมทั้งเอกสารของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสหลายฉบับ ไม่ลังเลที่จะใช้คำว่า "พ่อของมารี กีมารด์" (Her father"s name was Fanique)
ดังนั้นจึงเป็นไปได้สองทาง อย่างแรกคือ ฟานิคคนนี้เป็น "พ่อเลี้ยง" ของท้าวทองกีบม้า โดยที่ อุรซุล ยามาดา แม่ของท้าวทองกีบม้า แต่งงานใหม่กับฟานิค หลังจากให้กำเนิดท้าวทองกีบม้าแล้ว
ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับบทความของ อี. ดับเบิลยู. ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยพระนารายณ์ฯ ในหนังสือ ๒ เล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century และ 1688 Revolution in Siam ฮัตชินสันมักจะใช้คำว่า "ผู้เลี้ยงดู" หรือ "พ่อเลี้ยง" เมื่อกล่าวถึงฟานิค
อีกทางหนึ่งคือ ฟานิคเป็นพ่อแท้ๆ ของท้าวทองกีบม้าซึ่งแต่งงานใหม่กับอุรซุล ยามาดา ภายหลัง "บุตรชาย" ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ แล้วให้กำเนิดท้าวทองกีบม้า ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานบางชิ้นที่ระบุว่า ท้าวทองกีบม้ามี "ผิวคล้ำ" ซึ่งใกล้เคียงกับฟานิค ก็เป็นลูกครึ่งเบงกอล-ญี่ปุ่น และมีผิวคล้ำ
เราไม่สามารถหาข้อสรุปในกรณีนี้ได้อย่างชัดเจนว่า ท้าวทองกีบม้าแท้จริงแล้วเป็นลูกใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำกล่าวอ้างในทางร้ายเกี่ยวกับอุรซุล ยามาดา แม่ของท้าวทองกีบม้า ว่าเป็นหญิงที่มีความประพฤติไม่ดีในทางชู้สาว ฟานิคอาจจะเป็นคนที่เข้ามาตรงกลางระหว่าง "บุตรชาย" ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ กับอุรซุล ยามาดา จนให้กำเนิดท้าวทองกีบม้าก็เป็นได้
แต่ที่แน่ๆ คือ ฟานิคเป็นบุคคลที่คนยอมรับให้เป็น "พ่อ" ของท้าวทองกีบม้า ไม่ว่าจะเป็นพ่อเลี้ยง หรือพ่อตัวก็ตาม

ชื่อเดิมของท้าวทองกีบม้า
ในบรรดาเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศสที่บันทึกเรื่องราวของท้าวทองกีบม้า ได้ระบุชื่อเดิมไว้ ๒ ชื่อ คือ มารี ชีมารด์ (Marie Gimard) และอีกชื่อหนึ่งซึ่งปรากฏในจดหมายที่ท้าวทองกีบม้าให้ผู้อื่นช่วยเขียนเป็นภาษาละติน มีไปถึงบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีน แล้วลงชื่อด้วยตัวเองว่า ดอญ่า กีมาร์ เดอ ปินา (D. Guimar de Pina) ชื่อหลังนี้ระบุได้ชัดว่าเป็นชื่อโปรตุเกส ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวต่างชาติที่เป็นคาทอลิก
เช่นเดียวกับนักเรียนชาวสยามในสมัยเดียวกันนี้ ที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศสก็ล้วนเปลี่ยนเป็นชื่อคาทอลิกกันทั้งสิ้น เช่น พี เปลี่ยนเป็น ปิเย เอมานูเอล (Pierre Emmanuel) อ่วม เปลี่ยนเป็น ปอล อาตูส (Paul Artus) เป็นต้น นักเรียนชาวสยามเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นลูกครึ่งฝรั่ง ชื่อที่เปลี่ยนไปในลักษณะนี้จึงมักทำให้เข้าใจผิดว่าต้องเป็นลูกครึ่ง
แม้แต่ คลารา (Clara) สาวใช้ของท้าวทองกีบม้า แท้จริงคือสาวชาวจีน รวมไปถึง คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulcon) ก็เป็นชื่อคริสเตียนเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สาวญี่ปุ่นอย่างท้าวทองกีบม้าจะใช้ชื่อฝรั่งเป็นชื่อตัวดังเช่นชื่อทั้งสองนั้น
แต่จากสาแหรกตระกูลของท้าวทองกีบม้า ทำให้เกิดปัญหาที่ว่าชื่อ มารี กีมาร์ เดอ ปินา (Marie Guimar de Pina) หรือบางแห่งก็เขียนเป็น Guimar de Pina นั้น กลับไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับชื่อสกุลของวงศาคณาญาติเลย โดยเฉพาะนามสกุล กีมาร์ (Guimar) หรือ ปินา (Pina) นั้น ไม่พบหลักฐานที่มาที่ไปใดๆ ทั้งสิ้น
ทองกีบม้ามีย่าชื่อ อิกเนซ มาร์แตงซ์ (Ignez Martinz) ซึ่งมักอ้างกันว่าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส อันเนื่องมาจากชื่อฝรั่งนั่นเอง แต่ดังที่กล่าวมาแล้ว หากย่าของท้าวทองกีบม้าเป็นชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด แล้วหันมานับถือคาทอลิกก็สามารถเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อฝรั่งได้
หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง จะทำให้เชื้อสายของท้าวทองกีบม้าไม่มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ กับโปรตุเกสเลย
แม้จะมีบันทึกในจดหมายเหตุฟอร์บัง นายทหารชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการในสยามจนได้เป็นที่ออกพระศักดิสงคราม อ้างว่าท้าวทองกีบม้าจะมีลุงเป็น "คนครึ่งชาติ" คือมีพ่อเป็นโปรตุเกส และแม่ญี่ปุ่น ซึ่งก็พิสูจน์ได้ว่าลุงคนนี้คงจะไม่ใช่เป็นสายตรงกับท้าวทองกีบม้า เพราะไม่สัมพันธ์กับหลักฐานตามเชื้อสายของปู่-ย่า-พ่อ-แม่ ของท้าวทองกีบม้า นอกจากนี้ลุงคนนี้ก็ไม่ปรากฏชื่อ และนามสกุลใดๆ
ปู่และ "บุตรชาย" เป็นชาวญี่ปุ่นไม่ปรากฏชื่อ และนามสกุล พ่อชื่อ ฟานิค (Phanick ถ้าเป็นชื่อคาทอลิกสะกดเป็น Fanik) ไม่มีหนังสือเล่มไหนระบุ "นามสกุล" ของฟานิคแม้แต่เล่มเดียว แม่คือ อุรซุล ยามาดา (Ursule Yamada) เป็นชาวญี่ปุ่นใช้นามสกุลญี่ปุ่น

สุดท้ายคือสามี คอนสแตนติน ฟอลคอน นามสกุลเดิมในภาษากรีกคือ เยรากี (Garakis, Hierachy) แปลว่า เหยี่ยว ภายหลังเปลี่ยนเป็น ฟอลคอน (Falcon, Phaulkon) ในภาษาอังกฤษ หมายถึงเหยี่ยวเช่นเดียวกัน
แต่ท้าวทองกีบม้าก็ไม่ใช้นามสกุลใดๆ ของฟอลคอน เพียงแต่ถูกเรียกว่า "มาดามก็องสตังซ์" ตามนามของสามี ส่วนบุตรชายของฟอลคอนกลับใช้นามสกุลตามพ่อคือ ยอร์ช ฟอลคอน จนถึงชั้นหลานคือ จอห์น ฟอลคอน ต่างก็ใช้นามสกุล ฟอลคอนต่อกันมา
สรุปก็คือ ก่อนแต่งงานท้าวทองกีบม้ายังใช้นามสกุลเดิมของตัวเองอยู่คือ "ชีมารด์" หรือ "กีมารด์" เมื่อแต่งงานแล้วจะใช้นามว่า มารี ฟอลคอน หรือกีมารด์ ฟอลคอน หรือไม่นั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ถูกเรียกตามชื่อสามีเป็น "มาดามก็องสตังซ์"
และเมื่อเขียนจดหมายไปหาบาทหลวงในเมืองจีน ขณะนั้นท้าวทองกีบม้าสิ้นเนื้อประดาตัว และหมดอำนาจวาสนาใดๆ ไปพร้อมกับมรณกรรมของฟอลคอน จึงลงนามในหนังสือว่า D. Guimar de Pina ใช้นามสกุล "ปินา" โดยไม่ใช้ "ฟอลคอน" อีกเช่นกัน
ก็ยังเป็นที่สงสัยว่านามสกุลทั้งสองคือ กีมารด์ และปินา นั้นมีที่มาจากไหนกันแน่
หากหนึ่งในนี้ คือ กีมารด์ หรือปินา เป็นของฟานิค เหตุใดเมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้นี้จึงละนามสกุลไว้โดยไม่อ้างถึง หรือหากเป็นนามสกุลของ "บุตรชาย" พ่อญี่ปุ่นของท้าวทองกีบม้า หรือปู่ สามีของอิกเนซ มาร์แตงซ์ เหตุใดเมื่อเอกสารอ้างถึงบุคคลสองคนนี้จึงไม่อ้างถึงชื่อใดๆ
หรือว่านามสกุลกีมาร์ และปินา จะเป็นเพียงนามที่บาทหลวงตั้งให้หลังจากรับศีลเข้ารีตในคาทอลิก โดยไม่มีที่มาที่ไป
นามสกุลของท้าวทองกีบม้าจึงเป็นปริศนาอีกชิ้นหนึ่งในประวัติชีวิตที่แสนสับสนนี้

หน้าตา และบุคลิกของท้าวทองกีบม้าLuang Sitsayamkan (หลวงสิทธิสยามการ) เขียนบรรยายถึงบุคลิกหน้าตาของท้าวทองกีบม้าไว้ในหนังสือ The Greek Favourite of The King of Siam ว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นหญิงสาวชาวญี่ปุ่น รูปร่างผอม ผมดำ ตาสีน้ำตาล ผิวหน้าสะอาดสดใส สูงราว ๕ ฟุต รูปร่างเล็ก สดใสร่าเริง แม้จะไม่สวยมาก แต่ก็เป็นหญิง "ผิวคล้ำ" ที่ดึงดูดใจ และมีรูปร่างดี
น่าเสียดายที่หลวงสิทธิสยามการไม่ได้อ้างแหล่งที่มาของข้อมูลที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงนี้ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลชิ้นนี้ได้ว่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
แต่หากเรายึดถือเอาข้อมูลนี้เป็นหลัก ก็สามารถยืนยันได้ว่า รูปลักษณะภายนอกของท้าวทองกีบม้า แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็น "สาวญี่ปุ่น" เต็มตัว

ผิวที่ค่อนข้างคล้ำ อาจเกิดจากภูมิอากาศ หรืออาจได้ส่วนมาจากฟานิคผู้เป็นพ่อ ที่เป็นลูกครึ่งแขกกับญี่ปุ่น ดังนั้นท้าวทองกีบม้าจึงน่าจะมีผิวเหมือนกับชาวสยามลูกครึ่งจีน คือไม่ขาวซีดแบบชาวตะวันออก และไม่ดำคล้ำจนเกินไป
ทางด้านบุคลิกของท้าวทองกีบม้า ควรจะเป็นเช่นชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไป เนื่องจากท้าวทองกีบม้าไม่ได้อยู่สยามเพียงลำพัง มีทั้งญาติสนิท และชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสยามขณะนั้นเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นเหล่านั้นจะนำพาเอาวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบเดิมของตัวติดมาด้วย จนสามารถแยกออกจากชาติอื่นได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นท้าวทองกีบม้าจึงน่าจะ "แสดงตัว" อย่างชาวญี่ปุ่นทั่วไป ซึ่งจะตรงกับบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ที่ให้ "คำจำกัดความ" ท้าวทองกีบม้า เมื่อพูดถึงในครั้งแรก ว่า
"...เขา (หมายถึงฟอลคอน) ได้บังเกิดความสนใจในคุณความดี และความงามของสตรีสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งนามว่า มารี ชีมารด์..."

การแต่งกายของท้าวทองกีบม้า
ท้าวทองกีบม้าจะเป็นคาทอลิก แต่ก็เป็นสาวญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า นอกจากชื่อแล้วคาทอลิกไม่จำเป็นต้องมี "เครื่องแบบ" สำหรับแสดงตัว วิถีชีวิตประจำวันของท้าวทองกีบม้าจึงสามารถดำเนินตามรูปตามรอยของชาวญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่ เพราะทั้งครอบครัวญาติพี่น้องก็เป็นญี่ปุ่นเต็มตัว บางคนในนี้อพยพมาจากญี่ปุ่นโดยตรง
นอกจากนี้ชุมชนชาวต่างชาติในสยามต่างก็รักษารูปแบบการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมตามแบบเชื้อชาติของตนทั้งสิ้น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ท้าวทองกีบม้าจะแต่งกายแบบชาวญี่ปุ่น หรือไม่ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวญี่ปุ่นอย่างมาก ตามแต่จะปรับปรุงคลี่คลายให้เข้ากับวัตถุดิบ หรือสภาพอากาศในสยาม
แม้ว่าท้าวทองกีบม้าจะเกิดในสยาม ไม่เคยเห็นประเทศญี่ปุ่นเลยตลอดชีวิต แต่ก็มีญาติสนิทที่เป็นผู้หญิงตามที่ปรากฏในหลักฐานอย่างน้อย ๓ คน คือ ย่า ป้า น้า และแม่ ย่อมสามารถเป็นแบบอย่างชาวญี่ปุ่นให้ท้าวทองกีบม้าได้เรียนรู้
ในขณะที่ระเบียบทางสังคมก็ไม่ได้บีบบังคับให้ชาวต่างชาติต้องหลอมละลายเป็นชาวสยามทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามการเปิดโอกาสให้แสดงตัวเป็นชาวต่างชาติอย่างชัดเจน และการกำหนดถิ่นที่อยู่ที่แน่นอน ย่อมเป็นประโยชน์ในการควบคุมดูแลเพื่อความมั่นคงของชาติได้เป็นอย่างดี ในจิตรกรรมฝาผนังเราจึงพบเห็นคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น มอญ ลาว แขก จีน ฝรั่ง แต่งกายกันตามวัฒนธรรมของตนได้อย่างเสรี
ส่วนอีกเรื่องที่ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่หญิงญี่ปุ่นอย่างท้าวทองกีบม้าจะ "แต่งแหม่ม" เนื่องจากมีถิ่นพำนักในหมู่บ้านโปรตุเกส และเป็นคาทอลิก

ข้อนี้จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับชาวสยามที่คิดริเริ่มจะแต่งแหม่มในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความจำเป็นหลายด้านผลักดันให้สยามต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากการถูกดูหมิ่นว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นต้องอาศัยความกล้าหาญของเจ้านายชาววังอยู่ไม่น้อย ในการเป็นผู้นำแฟชั่น "แม่พลอย" หญิงงามอีกคนหนึ่งที่ผลัดโจงกระเบนมานุ่งกระโปรง ก็แทบก้าวขาไม่ออกในครั้งแรก
ดังนั้นการแต่งกายอย่างผิดชาติผิดภาษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเรื่องที่สังคมในสมัยนั้นคงจะยอมรับได้ยาก ท้าวทองกีบม้าแม้จะเกิดในสยามแต่ก็แวดล้อมไปด้วยครอบครัวชาวญี่ปุ่น และยังมีหน้าตาบุคลิกอย่างชาวเอเชีย จึงมีเพียง ๒ ทางเลือกสำหรับเรื่องนี้คือ แต่งกายอย่างชาวสยาม นุ่งโจง ห่มแถบห่มสไบ หรือแต่งอย่างญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะขณะนั้นชุมชนชาวญี่ปุ่นก็กลับมาตั้งชุมชนอยู่เป็นหลักฐานแล้ว หลังจากบ้านแตกสาแหรกขาดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ถิ่นที่อยู่ของท้าวทองกีบม้า
ท้าวทองกีบม้าเมื่อแรกกำเนิดในสยามนั้น มีถิ่นพำนักอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสรวมกับญาติพี่น้องชาวญี่ปุ่นอีกหลายคน หมู่บ้านนี้เป็นแหล่งรวมของชนชาติต่างๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ตั้งอยู่ทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
ส่วนฟอลคอนเป็นชาวกรีก เมื่อแรกเข้ามาสู่สยาม เคยอยู่ในชุมชนชาวอังกฤษ เนื่องจากทำการค้าในสังกัดอังกฤษ ภายหลังเมื่อขัดแย้งกับอังกฤษจึงย้ายที่อยู่ใหม่ ตามบันทึกของบาทหลวงกีร์ ตาชารด์ ผู้นิยมชมชอบฟอลคอนเป็นพิเศษ ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางมาสู่สยามไว้อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งในนั้นคือประวัติชีวิตของฟอลคอน
บาทหลวงตาชารด์ได้ระบุถิ่นที่อยู่ของฟอลคอนก่อนที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโตในสยามคือ "ม.ก็องสตังซ์ ซึ่งก่อนหน้านี้พำนักอยู่ในค่าย หรือหมู่บ้านญี่ปุ่น" ก่อนจะย้ายไปอยู่ในทำเนียบใหญ่โตภายในเกาะเมือง เมื่อได้รับตำแหน่งสูงทางการเมือง
เมื่อพิจารณาแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ทำขึ้นในสมัยนั้น ก็จะพบว่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้เกาะเมืองนั้น เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างประเทศขนาดใหญ่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน มีหมู่บ้านฮอลันดา และหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นหลัก และตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคือ หมู่บ้านโปรตุเกส การไปมาหาสู่ระหว่างชุมชนจึงเป็นเรื่องง่าย
ที่หมู่บ้านโปรตุเกสนี่เองเป็นสถานที่ท้าวทองกีบม้า และฟอลคอนได้พบและรู้จักกัน
เหตุที่ท้าวทองกีบม้าและครอบครัวเลือกที่จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส แทนที่จะข้ามฟากอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นตามเชื้อชาตินั้น ก็คงจะด้วยเหตุผลทางศาสนาเป็นหลัก เพราะทั้งครอบครัวเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดกันหมด น่าจะมีความอึดอัดใจหากต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของศาสนาอื่นในหมู่บ้านญี่ปุ่น
นอกจากนี้กลุ่มชาวต่างชาติต่างศาสนายังได้รับสิทธิพิเศษที่ทางรัฐบาลสยามยกเว้นไว้สำหรับชาวคาทอลิก คืออนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาได้โดยสะดวก ที่หมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นแหล่งรวมของชนชาติต่างๆ ทั้ง มอญ ลาว เขมร ญวน จีน ญี่ปุ่น ที่เป็นคาทอลิก ยกเว้นชาวสยามซึ่งขณะนั้นยังแทบไม่มีใครเข้ารีตนับถือศาสนานี้
แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองส่วนใหญ่ก็เป็นชาวโปรตุเกสเลือดผสมอินเดีย เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรก ก็ได้รับพระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ในบริเวณที่ใกล้ตัวเมืองเป็นที่อยู่อาศัย และดำเนินชีวิตไปตามกฎหมาย และประเพณีของตนได้ เป็นอิสระจากตุลาการศาลสยาม
ครอบครัวชาวญี่ปุ่นของท้าวทองกีบม้าจึงเป็นกลุ่มชนชาวญี่ปุ่นอีกครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสด้วยเหตุผลดังกล่าว
ภายหลังจากแต่งงาน ท้าวทองกีบม้าก็ย้ายเข้าไปอยู่ในทำเนียบหรูหราของฟอลคอน ปรากฏอยู่ในแผนที่ซึ่งทำขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันที่อยู่บริเวณระหว่างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับโรงเรียนจิรศักดิ์ กับบ้านอีกหลังที่เมืองลพบุรี ด้วยปรากฏหลักฐานว่า ท้าวทองกีบม้าได้พาคลาราทาสสาวชาวจีนหนีเรื่องชู้สาวกับฟอลคอนจากลพบุรี กลับมาอยู่บ้านในกรุงศรีอยุธยา และอีกบันทึกหนึ่งของบาทหลวงเดอ แบส กล่าวว่า มีหมู่บ้านคริสตังที่ลพบุรี เพราะฟอลคอนได้สร้างโบสถ์ไว้ที่นั่น ทั้งยังมีเด็กหญิงชายที่ภรรยาฟอลคอนเลี้ยงไว้ที่ลพบุรีเข้ารีต
แต่ปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่ว่ากลุ่มบ้านหลวงรับราชทูตนั้น หลังไหนเป็นบ้านวิชเยนทร์กันแน่ ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากคือภายหลังพิธีรับแขกเมืองแล้ว ฟอลคอนอาจจะครอบครองใช้ที่แห่งนี้เป็นที่พักในลพบุรีก็เป็นได้
หลังจากมรณกรรมของฟอลคอนแล้ว ท้าวทองกีบม้าก็ยังคงผูกพันอยู่กับหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของญาติพี่น้อง ครั้งหนึ่งในระหว่างถูกกักกัน ท้าวทองกีบม้ายัง "ขอไปเยี่ยมมารดาของเธอที่ป่วยอยู่ ณ ค่ายพวกโปรตุเกส" ส่วนญาติพี่น้องนั้นก็เดินทางจากบ้านโปรตุเกสมาเยี่ยมท้าวทองกีบม้าในระหว่างถูกกักกันเสมอ
แม้ในระหว่างอายุ ๖๐ กว่าปี ที่ต้องเข้าไปทำงาน และอาศัยอยู่ในวัง ท้าวทองกีบม้าก็ยังไปมาหาสู่หมู่บ้านโปรตุเกสอยู่เป็นประจำ ตามบันทึกของมองซิเออร์โชมองต์ ในประชุมพงศาวดารภาค ๓๕ ว่า
"...มาดัมคอนซตันซ์จะไปวัดคริสเตียนก็ได้ตามใจชอบ บางทีก็ไปนอนยังบ้านซึ่งเป็นบ้านอย่างงดงามในค่ายของพวกปอตุเกศ และเป็นที่อยู่ของหลานด้วย..."
จนเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ท้าวทองกีบม้าจะกลับมาอาศัย และยึดเอาหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นเรือนตาย และที่ฝังศพ เมื่ออายุ ๘๐ กว่าปี

ท้าวทองกีบม้าพูดภาษาอะไร
ท้าวทองกีบม้า แม้จะเป็นสาวญี่ปุ่น แต่ก็เกิดในสยาม และตลอดช่วงชีวิตก็เข้านอกออกในพระราชวังอยู่เป็นนิจ จึงควรจะพูดภาษาสยามได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ท้าวทองกีบม้า "พูดไทยได้" คือบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ดังนี้
"...ตั้งแต่นั้นมา เขาก็สั่งผู้คุมให้อนุญาตให้เราพูดกับมาดามก็องสตังซ์ได้ก็แต่ด้วยภาษาสยามเท่านั้น และต้องให้พูดกันต่อหน้าผู้คุมด้วย เพื่อเป็นสักขีพยานว่าเราได้พูดว่ากระไรกันบ้าง..."
ขณะเดียวกันท้าวทองกีบม้าก็เป็นชาวญี่ปุ่น มีพี่น้องที่อพยพมาจากญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นจึงไม่น่ามีปัญหา
ส่วนอีกภาษาหนึ่งคือ โปรตุเกส ท้าวทองกีบม้า และครอบครัว อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส จึงเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ท้าวทองกีบม้าจะพูดภาษานี้ได้
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ที่ว่า ผู้คุมบังคับให้พูดภาษาสยาม แสดงว่าก่อนหน้านี้ ทั้งคู่ต้องเคยคุยภาษาอื่นมา ซึ่งบาทหลวงเดอ แบส เป็นชาวฝรั่งเศส ที่เรียนภาษาโปรตุเกส และภาษาสยามมาในเรือ ท้าวทองกีบม้าพูดฝรั่งเศสไม่ได้แน่ เช่นเดียวกับฟอลคอน ดังนั้น บาทหลวงเดอ แบส และท้าวทองกีบม้าจึงน่าจะเคยคุยกันด้วยภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก
ส่วนฟอลคอน แม้จะเป็นล่ามให้กับคณะราชทูตฝรั่งเศส แต่ก็พูดฝรั่งเศสไม่ได้ จึงติดต่อกับคณะราชทูตฝรั่งเศสด้วยภาษาโปรตุเกส นอกจากนี้ยังสามารถ "พูดไทย" ได้อีกภาษาหนึ่ง แต่ไม่น่าจะถนัดเท่ากับภาษาโปรตุเกส
ดังนั้น ฟอลคอนจึงน่าจะ "จีบ" ท้าวทองกีบม้าด้วยภาษาโปรตุเกส และใช้ภาษานี้เรื่อยมาตลอดชีวิตการแต่งงาน มากกว่าภาษาไทย

รสนิยมของท้าวทองกีบม้า
ชีวิตความเป็นแม่บ้าน และสตรีหมายเลขหนึ่งในเวลาเดียวกันของท้าวทองกีบม้า น่าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตการงานของฟอลคอนไม่น้อย ขณะที่สินค้าจากประเทศจีน และญี่ปุ่นกำลังเป็นที่นิยมในสยาม จึงเป็นโอกาสอันดีที่ท้าวทองกีบม้าจะได้แสดงความเป็นญี่ปุ่นออกมาในชีวิตประจำวัน และงานรับใช้สามี ซึ่งเป็นลักษณะของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไป สิ่งนี้สะท้อนออกมาในการตกแต่งสถานที่พักคณะราชทูต ซึ่งท้าวทองกีบม้าอาจจะมีส่วนในการเป็น "แม่งาน" ในการนี้อยู่บ้าง
ในบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ เกี่ยวกับการตกแต่งที่พักของราชทูต เดอ โชมองต์ ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

“บ้านของเขาตกแต่งงดงามพอสมควร และแทนที่จะใช้ม่านพรมขึงประดับฝาห้อง อันไม่เหมาะสมสำหรับประเทศสยามซึ่งมีอากาศร้อน ที่หอนั่งจึงใช้ฉากญี่ปุ่นขนาดใหญ่ และมีราคาสูงกั้นไว้โดยรอบ ฉากญี่ปุ่นนี้มีลวดลายงดงามอย่างน่าพิศวง..."
นอกจากนี้ในการประดับตกแต่งที่พำนักราชทูต ยังมี "ตู้เก็บถ้วยชามนั้นเต็มไปด้วยภาชนะทองคำ และเงินจากประเทศญี่ปุ่น"
น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกใดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านพักหรูหราของฟอลคอน นอกจาก มูไรส์ คอลลิส (Maurice Collis) ผู้แต่ง Siamese White ได้กล่าวถึงความหรูหราในบ้านพัก และโบสถ์ของฟอลคอนว่า "...ที่ข้างในประดับไปด้วยหินอ่อนมีลายทอง มีภาพที่เกี่ยวด้วยศาสนาเขียนโดยช่างเขียนญี่ปุ่นที่มีฝีมือประดับฝาผนัง"
ชีวิตส่วนตัวของท้าวทองกีบม้า และฟอลคอน จึงหนีไม่พ้นบรรยากาศแบบญี่ปุ่น ตามรสนิยม และพื้นเพของท้าวทองกีบม้า
ทางด้านอาหารการกินค่อนข้างแน่ชัดว่าท้าวทองกีบม้าไม่โปรดอาหารพื้นเมืองสยาม โดยดูได้จากบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ขณะจะถูกนำตัวไปอยู่ในวังของออกหลวงสรศักดิ์ ท้าวทองกีบม้าใช้อุบายหลบหลีกจนได้ โดยอ้างว่า "อาหารการกิน ณ ที่นั้นไม่ต้องด้วยรสนิยมของเธอ เธอไม่อาจบริโภคอาหารที่เขาจัดหามาให้ได้ เพราะท้องยังไม่เคยกับอาหารชาวสยาม..." อุบายเช่นนี้ควรจะต้องมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง จึงทำให้ผู้อื่นเชื่อถือได้ โดยเฉพาะคนฉลาดอย่างออกหลวงสรศักดิ์ซึ่งภายหลังคือ "พระเจ้าเสือ"
รสนิยมด้านอาหารนี้ยังสะท้อนไปถึงคราวที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงจัดเลี้ยงรับรองคณะราชทูต เราไม่อาจทราบได้ว่างานวันนั้น ท้าวทองกีบม้ามีส่วนมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นที่แน่นอนว่า ตลอดเวลาที่คณะทูตพำนักอยู่ในสยามนั้น ฟอลคอนมีหน้าที่หลักในการรับรองดูแลให้ได้รับความสะดวกสบายกับคณะราชทูต
ระหว่างการรับรองนั้น ฟอลคอนได้ส่งของกำนัลไปให้คณะทูตอยู่ตลอดเวลา "ม.ก็องสตังซ์จัดส่งเหล้าองุ่น กับเบียร์ญี่ปุ่นมาให้"
และจากบันทึกของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ก็อาจจะทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ใครน่าจะเป็นแม่งานในครัว เตรียมงานเลี้ยงราชทูต ดังนี้
"มีการชักชวนกันดื่มถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ สตูว์ญี่ปุ่นนั้นดี แต่ของสยามนั้นยังดีกว่า ส่วนของปอร์ตุเกสนั้นไม่เป็นรสเป็นชาติ มีเหล้าองุ่นสเปน, เปอร์เซีย, ฝรั่งเศส, เบียร์อังกฤษ ม.ก็องสตังซ์ทำโดยให้เกียรติเราเต็มที่ คนๆ นี้ทำอะไรดีไปเสียทั้งนั้น..."
จากบันทึกนี้ก็สามารถยืนยันได้ว่า ฟอลคอนเป็นแม่งานในการจัดเลี้ยง เป็นไปได้หรือไม่ที่ท้าวทองกีบม้าจะเป็นคนทำสตูญี่ปุ่นรสดีชามนั้น

ทางด้านฝีมือการทำอาหารของท้าวทองกีบม้านั้น จัดได้ว่ามีฝีมือเป็นที่ติดอกติดใจหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ออกพระศักดิสงคราม (ฟอร์บัง) ถึงกับติดใจรสมือของท้าวทองกีบม้าเป็นพิเศษ ดังที่ปรากฏในบันทึกว่า "ความจริงวิชเยนทร์ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินเสมอ จัดหาอาหารที่อร่อยไปแบ่งให้ข้าพเจ้ารับประทานด้วย แต่ถ้าเขามีราชการที่บังคับให้ทำอยู่ที่เคหสถานของเขา ข้าพเจ้าต้องฝืนใจรับประทานของที่โปรดเกล้าฯ ให้ห้องเครื่องต้นส่งออกมา"
สิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้จะไม่ได้บอกกับเราโดยตรงว่า แต่ละวันฟอลคอน และท้าวทองกีบม้า "กินข้าวกับอะไร" แต่ก็พอให้สันนิษฐานได้ว่า อาหารญี่ปุ่นคงจะมีขึ้นโต๊ะอยู่เสมอตามที่ท้าวทองกีบม้าคุ้นเคย บ้านของฟอลคอนมีแขกไปมาหาสู่เสมอ และต้องจัดเลี้ยงบนโต๊ะฝรั่ง จึงต้องมีอาหารโปรตุเกส และอาหารฝรั่งขึ้นโต๊ะเป็นประจำ สลับกับอาหารพื้นเมืองชาวสยามบ้าง ยกเว้นอาหารมาตรฐานคือ "น้ำพริก" ที่ท้าวทองกีบม้า และฝรั่งมียศอย่างฟอลคอนคงจะไม่โปรดปราน

ขนมหวานท้าวทองกีบม้า คิดเองในสยาม หรือสูตรจากญี่ปุ่น
ท้าวทองกีบม้าต้องตกอับอยู่ช่วงหนึ่ง จนถึงปี ๒๒๓๓ ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส และถูกบังคับให้ทำอาหารหวานส่งเข้าวังตามอัตราที่กำหนด เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันในรายละเอียด
ตามหลักฐานของบาทหลวงโอมองต์ (Fr. Aumont) บันทึกไว้ว่ามาดามฟอลคอน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นชาววิเสทประจำห้องเครื่องในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ส่วนแคมเฟอร์ (Kampfer) ซึ่งมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๒๖๒ บันทึกว่า เห็นท้าวทองกีบม้ากับลูกชาย เที่ยวเดินขอทานตามบ้านพวกเข้ารีต และชาวต่างชาติ ซึ่งบันทึกข้อนี้ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เพราะชาวคาทอลิก และญาติพี่น้องของท้าวทองกีบม้าในหมู่บ้านโปรตุเกส ไม่น่าจะทอดทิ้งกันถึงเพียงนี้
อีกบันทึกของอเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน อ้างว่าได้พบกับมาดามฟอลคอนในปี ๒๒๖๒ ขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการห้องเครื่องต้นแผนกหวาน มีผู้คนรักใคร่นับถือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของมองซิเออร์โชมองต์ อ้างว่ามาดามก็องสตังซ์ เป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหวาน เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษา และฉลองพระองค์ และยังเป็นผู้เก็บผลไม้เสวยด้วย
ในจดหมายของท้าวทองกีบม้าที่เขียนถึงบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีน กล่าวไว้ว่า
"...ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยาก และระกำช้ำใจ มืดมนธ์อัธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่นอนที่พิเศษอย่างใด คงแอบนอนพักที่มุมห้องเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังรักษาเฝ้าห้องเครื่องนั้น"

แม้ประวัติช่วงนี้ของท้าวทองกีบม้าจะไม่ตรงกันนัก แต่ก็ยอมรับได้ว่า ท้าวทองกีบม้าเคยไปทำงานในวังจริง และเป็นคนทำขนมหวานตำรับโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง จนเป็นสูตรให้คนทำสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาก็คือ ท้าวทองกีบม้าคิดสูตรทองหยิบ ฝอยทอง ด้วยตัวเอง โดยเอาวัตถุดิบพื้นเมืองสยามมาดัดแปลงให้เข้ากับตำรับโปรตุเกส หรือมีคนสอนให้ทำ?
คนที่ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้เป็นชาวญี่ปุ่น คือ เรโกะ ฮาดะ (Reiko Hada) ได้เขียนบทความชื่อ Madame Marie Guimard Under the Ayudhya Dynasty of the Seventeenth Century ลงในวารสารสยามสมาคม (J.S.S., V.80. Part1, 1992)
ฮาดะได้เสนอไว้ว่า อันที่จริงท้าวทองกีบม้าได้สูตร หรือถูกสอนให้ทำขนมลักษณะนี้มาจากแม่ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ชาวโปรตุเกสเข้าไปในญี่ปุ่นมากขึ้น ก็ได้สอนให้ชาวญี่ปุ่นหัดทำขนมโปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันขนมญี่ปุ่นหลายชนิดก็เป็นตำรับโปรตุเกส ขนมญี่ปุ่นบางอย่างมีลักษณะเหมือนฝอยทอง ยังคงทำกันอยู่ที่เกียวโต และคิวชู ในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน
ขนมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเหมือนฝอยทองตามความเห็นของฮาดะ น่าจะหมายถึงขนมที่มีชื่อว่า เครันโชเมน ซึ่งมีหน้าตาและสีสันคล้ายกับฝอยทองอย่างมาก
หากเป็นเช่นนี้จริง ก็เท่ากับว่า ขนมไทยสูตรท้าวทองกีบม้า ก็คือสูตรขนมญี่ปุ่นตำรับโปรตุเกส ที่ญาติพี่น้องของท้าวทองกีบม้าถ่ายทอดสืบต่อกันมา ไม่ใช่มีถิ่นกำเนิดในสยาม!

4 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากตรับ ได้ความรู้เยอะเลย..ขอบคุณทีแบ่งปันครับ

    ตอบลบ
  2. ดีมากตรับ ได้ความรู้เยอะเลย..ขอบคุณทีแบ่งปันครับ

    ตอบลบ