วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สยาม...นามเดิมของประเทศไทย



สยามเมื่อกาลก่อน หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งมีประเทศอินเดียทางทิศตะวันตกและ จีนทางทิศตะวันออก ประเทศไทยมีพรมแดนด้านทิศตะวันออกจรดลาวและเขมร ทางใต้จรดอ่าวไทยและมาเลเชีย ฝั่งตะวันตกจรดทะเลอันดามันและพม่า มีพื้นที่ประมาณ 200,148 ตารางไมล์ หรือประมาณ 514,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 62,418,054 คน (จากข้อมูลสถิติประชากรปี 2548 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
"สยาม" คือชื่อเดิมของประเทศไทย ซึ่งเคยใช้เรียกอย่างเป็นทางการ จวบกระทั่ง*วันที่ 17 เดือน กันยายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ในสมัยของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก"ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" ทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และในปีพ.ศ.2483 นี้ ด้วยเช่นกันที่รัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ได้ประกาศยกเลิกการใช้วันที่ 31 มีนาคมเป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับสากลนิยม จึงประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
(จากหนังสือ เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย พระนิพนธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)

ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2310 นั้นพม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2308 พระยาตากซึ่งเป็นเจ้าเมืองตากอยู่ถูกเรียกเข้ามาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 พระยากตากได้นำทหารราว 1,000 คน ตีฝ่าด่านพม่าหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปรวบรวมผู้คนไว้สู้พม่าที่เมืองจันทบูรณ์ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็ถูกพม่าตีแตกเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 พระยาตากได้รวบรวมผู้คนอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นก็ยกทัพกลับมาตีทัพพม่าที่ตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิสามต้น อยุธยา และตีค่ายพม่าแตกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 พม่าถูกฆ่าตายเป็นอันมากที่รอดตายก็แตกพ่ายหนีกลับพม่าไป พระยาตากจึงได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของประเทศในขณะนั้นและเลือกกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2310 ถึงปี พ.ศ. 2325 และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครฯขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อ พ.ศ. 2325

และหลังจากนั้นก็ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 "คณะราษฎร" ได้ทำการยึดอำนาจในการปกครองของประเทศ และเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

-------------------------------------

ประวัติคร่าวๆของคำว่า "สยาม"สยาม (อักษรละติน: Siam) (สันสกฤต: श्याम) เป็นชื่อเรียกของประเทศไทยในสมัยโบราณ แต่มิใช่ชื่อที่คนไทยใช้เรียกตนเอง สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไทยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ชื่อ สยาม ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษ อันเนื่องมาจากอาณาจักรสยามนี้ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยาม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน อีกทั้ง ชื่อ สยาม นั้น ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการของต่างประเทศอีกด้วย

ในปัจจุบันอาจมีความพยายามที่จะเอาชื่อประเทศไทย กลับไปเป็นชื่อสยาม แต่จะเห็นว่าสยาม คนไทยเดิมไม่เรียกตัวเองอย่างนั้น แต่เป็นคนกลุ่มมอญ-เขมร ที่เรียกคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาว เดี๋ยวนี้ชาวบรู (มอญ-เขมร) ในเขตมุกดาหาร เรียกพวกผู้ไท ว่าเซียม รวมถึงในเขตจีน-พม่า คนไท มักถูกพวกละว้า เรียกว่าเซียม และโดยลักษณะการเรียกชื่อชนชาติอื่น ส่วนมากเป็นคำไม่ค่อยดี เซียมหรือสยาม อาจเป็นคำที่ไม่ค่อยดีก็ได้ เหมือนที่จีนเรียกพวกไท ว่า ไป่เยว่ หรือลาว เรียกพวกที่พูดภาษามอญ-เขมร ในลาว ว่า "ข่า" เป็นต้น พอไม่รู้ความหมายก็เอาคำว่า "ข่า" ไปเป็นชื่อชนชาติไป ทั้งที่มาจากการเหยียดหยาม

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนไว้ว่า
"มีการใช้ชื่อสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนำกฎหมายเก่ามาชำระและรวบรวมเป็นกฎหมายตราสามดวง ชื่อประเทศได้รับการบันทึกเป็นภาษาบาลีว่า "สามปเทส" สาม หรือ สามะ แปลว่าความเสมอภาค ส่วน ปเทส แปลว่า ประเทศ แต่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยน เป็นเซียมหรือไซแอม"

ส่วนนายจิตร ภูมิศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า
"สยาม อาจเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า ศยาม ซึ่งแปลว่า สีดำ สีคล้ำ สีทอง ฯลฯ นั้น ดูเหมือนจะเป็นความเห็นดั้งเดิมที่แพร่หลายมากที่สุด และแทบจะยอมรับกันเป็นความจริงชี้ขาดเรื่องชื่อสยามทีเดียว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น