วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศีลมหาสนิท

เป็นคริสเตียนมาก็หลายเดือนล่ะ แต่เพิ่งรับศีลมหาสนิท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นี่เอง คือคนเขียนไม่ค่อยได้ไปโบสถ์อ่ะ (บ้านอยู่บ้านโป่ง โบสถ์อยู่ ตั้งศรี/โรงแรมเวล นครปฐม เหอๆๆๆๆๆๆๆ)แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นแคร์ จะไปตลอดนะ เพราะโบสถ์อยู่ตั้งศรี แล้วแคร์จะจัดทุกวันพุธ หรือ ศุกร์ (ถ้าเห็นคนเขียนกลับบ้านเย็นๆ สัก 17.00น. ก็อย่าโกรธเลยนะคะ คือคนเขียนไปโบสถ์มาง่ะ)

แล้วเวลาผู้เชื่อใหม่เนี่ยจะยังไม่รับศีลมหาสนิททันทีหลังจากรับเชื่อ แต่จะรับหลังจากที่มาโบสถ์อย่างสม่ำเสมอแล้วระยะหนึ่ง เมื่อคิดว่าว่าพร้อมแล้ว จึงรับพิธีศีลมหาสนิทค่ะ



ศีลมหาสนิท หรือ มิสซา คือ พิธีกรรมของชาวคริสต์ เพื่อร่วมสนิทกับพระเยซู โดยการรับประทาน ขนมปัง (สัญลักษณ์แทนพระกายของพระองค์) และ เหล้าองุ่น (สัญลักษณ์แทนพระโลหิต)

การประกอบพิธีศีลมหาสนิท เพื่อให้ชาวคริสต์ระลึกถึงคุณของพระเจ้า เพื่อการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน เพื่อแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ และเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยความรักในประชาคมเดียวกัน

ศีลมหาสนิทมีที่มาจากเหตุการณ์ก่อนพระเยซูถูกจับกุมไปตรึงกางเขน ตรงกับคืนวันพฤหัสบดี มีการรับประทานอาหารร่วมกับอัครสาวกสิบสององค์ อันเป็นพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ในการรับประทานอาหารครั้งนั้นอยู่ในช่วงปัสกา มีเพียง ขนมปัง และเหล้าองุ่น ซึ่งพระองค์ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาใหม่ ในการไถ่บาปด้วยเนื้อและเลือดของพระองค์ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้แล้ว

(นักบุญมัทธิวบันทึกว่า) " ระหว่างอาหารมื้อนั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังมา และเมื่อถวายสาธุการแล้ว ทรงหักส่งให้กับเหล่าสาวก ตรัสว่า 'จงรับกินเถิด นี่เป็นกายของเรา' แล้วพระองค์จึงทรงหยิบถ้วยโมทนาพระคุณและส่งให้เขา ตรัสว่า 'จงรับไปดื่มทุกคนเถิด ด้วยว่านี่เป็นโลหิตของเรา อันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งต้องหลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนเป็นอันมาก เราบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีกจนวันนั้นมาถึง คือวันที่เราจะดื่มกันใหม่กับพวกท่านในแผ่นดินแห่งพระบิดาของเรา' " [พระวรสารนักบุญมัทธิว (มธ.)26:26-30]

(นักบุญลูกาบันทึกว่า) " พระองค์ตรัสกับเขาว่า 'เรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะกินปัสกานี้กับพวกท่าน ก่อนเราจะต้องทนทุกข์ทรมาน ด้วยเราบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่กินปัสกานี้อีก จนกว่าจะสำเร็จความหมายของปัสกานั้น ในแผ่นดินของพระเจ้า' พระองค์ทรงหยิบถ้วยโมทนาพระคุณ แล้วตรัสว่า 'จงรับถ้วยนี้แบ่งกันดื่ม เพราะบอกบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีก จนกว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะมา' พระองค์ทรงหยิบขนมปังโมทนาพระคุณ แล้วหักส่งให้แก่เขาทั้งหลาย ตรัสว่า 'นี่เป็นกายของเรา ซึ่งได้ให้ท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา' เมื่อรับประทานแล้ว จึงทรงหยิบถ้วย กระทำเหมือนกัน ตรัสว่า 'ถ้วยนี้ซึ่งเทออกเพื่อท่านทั้งหลาย เป็นคำสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเรา ...' " [พระวรสารนักบุญลูกา (ลก.)22: 15-20]

(นักบุญเปาโลเขียนจดหมายกล่าวว่า) " ... เพราะว่าเรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้มอบไว้กับท่านแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือในคืนที่เขาอายัดพระเยซูเจ้านั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้งขอบพระคุณแล้ว จึงตรัสทรงหักแล้วตรัสว่า 'นี่เป็นกายของเรา ซึ่งให้แก่ท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา' เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์จึงทรงงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน ตรัสว่า 'ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มเป็นที่ระลึกถึงเรา' เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนถึงพระองค์เสด็จมา เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดกินขนมปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ผู้นั้นก็ทำผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้ เพราะว่าคนที่กินและดื่มโดยมิได้เล็งเห็นพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็กินและดื่มเป็นเหตุให้ตนเองถูกพิพากษาโทษ ด้วยเหตุนี้พวกท่านหลายคนจึงอ่อนกำลังและป่วยไข้ และบ้างก็ล่วงหลับไป แต่ถ้าพวกเราพิจารณาตัวเราเอง เราคงไม่ต้องถูกทำโทษ เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำโทษเรานั้น พระองค์ทรงตีสอนเรา เพื่อมิให้เราถูกทรงพิพากษาลงโทษด้วยกันกับโลก ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้เมื่อท่านมาร่วมประชุมรับประทานอาหารนั้น จงคอยซึ่งกันและกัน ถ้ามีใครหิว ก็ให้เขากินที่บ้านเสียก่อน เพื่อเมื่อมาประชุมกัน ท่านจะได้ไม่ถูกทรงพิพากษาลงโทษ ... " [จดหมายของนักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตจักรในเมือง โครินธ์ ฉบับที่ 1(1คร.)11: 23-34 ]

ทั้งสามข้อความ ยังสอดคล้องกับ พระวรสารนักบุญมาระโก 14: 23-26


แถมให้อีกบทความค่ะ



อะไรคือความสำคัญของพิธีศีลมหาสนิทของคริสเตียน?

คำตอบ: การศึกษาเกี่ยวกับพิธีศีลมหาสนิทเป็นเรื่องปลุกเร้าจิตวิญญาณเพราะความหมายอันลึกซึ้งของพิธีนี้ มันเป็นตอนที่มีการเฉลิมฉลองพิธีปัสกาอันเป็นพิธีที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องมาช้านาน ก่อนวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงวายพระชนม์ ที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาการมีการสามัคคีธรรมชนิดใหม่ที่สำคัญด้วยการรับประทานอาหารร่วมกันขึ้นมา ซึ่งเป็นพิธีที่เราถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน พิธีนี้เป็นการแสดงออกสูงสุดของการนมัสการของคริสเตียน มันเป็น “คำเทศนาภาคปฏิบัติ” อันเป็นการระลึกถึงการวายพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และเป็นการมองไปยังอนาคตถึงการเสด็จกลับมาที่เต็มไปด้วยพระสิริของพระองค์

พิธีปัสกาเป็นพิธีเลี้ยงฉลองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปีในศาสนาของชาวยิว มันเป็นการระลึกถึงโรคระบาดสุดท้ายที่เกิดขึ้นเหนือคนอียิปต์เมื่อบุตรหัวปีของคนอียิปต์ต้องเสียชีวิต แต่บุตรหัวปีของคนอิสราเอลรอดพ้นจากความตาย อันเนื่องมาจากการประพรมเลือดแกะไว้ที่ประตู แล้วพวกเขาก็เอาแกะนั้นมาย่างและรับประทานพร้อมกับขนมปังไร้เชื้อ คำสั่งของพระเจ้าคือให้คนทุกยุคทุกสมัยเฉลิมฉลองพิธีนี้ตลอดไป เรื่องทั้งหมดนี้ได้มีบันทึกไว้ในหนังสืออพยพบทที่ 12

ในระหว่างการเฉลิมฉลอง พระเยซูทรงร้องเพลงสดุดีร่วมกับสาวกหนึ่งเพลงหรือมากกว่า (สดุดี 111 – 118) ต่อจากนั้นพระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้นขอบพระคุณแล้ว จึงทรงหักแล้วตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา ซึ่งหักออกเพื่อท่านทั้งหลาย” เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์จึงทรงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน และหลังจากที่พระองค์ทรงดื่ม ทรงยื่นถ้วยให้กับพวกเขา, เขาทั้งหลายก็รับไปดื่ม พระองค์ตรัสว่า “ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ด้วยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มให้เป็นที่ระลึกถึงเรา” พระองค์ทรงจบพิธีด้วยการร้องเพลงสรรเสริญ แล้วพวกเขาก็ออกไปในคืนนั้นเพื่อไปที่ภูเขามะกอกเทศ ที่นั่นเองที่พระเยซูทรงถูกทรยศโดยยูดาสตามที่ได้มีพยากรณ์ไว้ ในวันถัดมาพระองค์ก็ทรงถูกตรึงบนกางเขน

เรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าได้มีบันทึกไว้ในหนังสือพระกิตติคุณ มัทธิว 26:26-29, มาระโก 14:17-25, ลูกา 22:7-22, และยอห์น 13:21-30 อัครทูตเปาโลได้เขียนเกี่ยวกับพิธีเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเยซูโดยการเปิดเผยสำแดงที่ได้รับการดลใจไว้ในหนังสือ 1 โครินธ์ 11:23-29 (เพราะแน่นอนว่าท่านเปาโลไม่ได้อยู่ที่ห้องชั้นบนด้วยในตอนนั้น) ท่านเปาโลได้เขียนต่อท้ายไว้ว่า “เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดกินขนมปัง หรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ผู้นั้นก็ทำผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้ เพราะว่าคนที่กินและดื่มโดยมิได้เล็งเห็นพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็กินและดื่มเป็นเหตุให้ตนเองถูกพิพากษาโทษ” (11:27-29) เราอาจจะถามว่าการกินและดื่ม “อย่างไม่สมควร” หมายความว่าอย่างไร คำตอบคือมันอาจหมายความว่าเราไม่ได้สนใจความหมายที่แท้จริงของขนมปังและน้ำองุ่น และลืมคิดไปถึงราคาอันหาค่าไม่ได้ที่องค์พระผู้ช่วยให้รอดได้ทรงจ่ายไปเพื่อความรอดของเรา หรือมันอาจหมายความว่าเราปล่อยให้พิธีนี้กลายเป็นพิธีที่ตายแล้วหรือเป็นพิธีกรรมอย่างเป็นทางการ หรือเราเข้ามาที่โต๊ะเสวยโดยไม่ได้สารภาพบาปเสียก่อน หากเราจะทำตามคำแนะนำของท่านเปาโล แต่ละคนควรพิจารณาตัวเองก่อนที่จะรับประทานขนมปังและดื่มจากถ้วยอย่างใส่ใจในคำเตือน คำต่อท้ายนี้ไม่ได้มีบันทึกไว้ในหนังสือพระกิตติคุณ

อีกข้อความหนึ่งที่ท่านเปาโลได้เขียนไว้ซึ่งไม่มีในหนังสือพระกิตติคุณ คือ “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (11:26) ข้อความนี้เป็นการกำหนดขีดจำกัดของพิธี – จนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมา จากข้อความสั้น ๆ นี้ เราได้เรียนรู้ว่าพระเยซูได้ทรงใช้สิ่งที่เล็กน้อยที่สุดเป็นสัญลักษณ์ของพระกายและพระโลหิตของพระองค์ และทรงทำให้มันเป็นอนุสาวรีย์สำหรับการวายพระชนม์ของพระองค์ ไม่ใช่อนุสาวรีย์ที่แกะสลักด้วยหินอ่อนหรือรูปหล่อทองเหลือง แต่เป็นแค่ขนมปังและน้ำองุ่น

พระองค์ทรงประกาศว่าขนมปังเล็งถึงพระกายของพระองค์ซึ่งจะต้องแตกหัก – ไม่มีกระดูกที่แตกหัก แต่พระกายของพระองค์ต้องแตกหักเสียหายมากมายเสียจนแทบจะจำไม่ได้ (สดุดี 22:12-17, อิสยาห์ 53:4-7) น้ำองุ่นเล็งถึงพระโลหิตของพระองค์ มันบ่งชี้ถึงการสิ้นพระชนม์ที่โหดร้ายที่พระองค์จะได้รับในไม่ช้า พระองค์ - พระบุตรผู้ไร้ตำหนิของพระเจ้า - ทรงทำให้คำพยากรณ์ที่มีปรากฏอยู่ในพันธสัญญาเดิมหลายครั้งจนนับไม่ถ้วนเกี่ยวกับพระผู้ไถ่ (ปฐมกาล 3:15, สดุดี 22, อิสยาห์ 53, ฯลฯ) สำเร็จลง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงทำเช่นนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา” มันเป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือพิธีที่จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นมันยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพิธีปัสกา - ซึ่งต้องใช้แกะที่ตายแล้วและเล็งไปข้างหน้า ถึงพระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ที่จะเสด็จมาเอาความบาปออกไปจากโลก - เก่าพ้นสมัยไปแล้ว พันธสัญญาใหม่ได้เข้ามาแทนที่เมื่อพระคริสต์ – แกะปัสกา - (1 โครินธ์ 5:7) ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องถวายบูชา (ฮีบรู 8:8-13) ระบบการถวาบบูชาจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป (ฮีบรู 9:25-28)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น