วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นางอัปสร (Celestial Dancer)

อัปสร หรือ นางอัปสร(สันสกฤต: अप्सराः อปฺสราห์, พหูพจน์ अप्सरसः อปฺสรสห์) ถือเป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่ง มีเพศเป็นหญิง อาจเรียกว่า นางฟ้า ก็ได้ แต่ไม่ใช่เทวดา มีฐานะเป็นอมนุษย์

จารึกเขมรในพุทธศตวรรษที่ 14 อ้างว่า “วงศ์กษัตริย์เขมรนั้นเกิดจากพระฤษีกัมพุ ร่วมสังวาสกับนางอัปสรชื่อเมรา” (Coedes 1968)


ตามเทพปกรณัม หมู่นางอัปสรเป็นล้านเป็นโกฏิเกิดจากการเกษียรสมุทร

จากจุดที่เขามันทร (ชาย) กวนสมุทร (หญิง) เหล่านางอัปสรได้รำออกมาสู่ฟ้าประดับจักรวาลเยี่ยงนางอาโฟรดีเตของกรีกที่เกิดจากฟองน้ำทะเล


เขามันทร หมายถึง พระมหากษัตริย์และพลังบรรพบุรุษส่วนนาควาสุกีคือพลังของแผ่นดิน

พระเจ้ากรุงพระนครธมสถิตในพระมณเฑียรท่ามกลางบารายมหึมาที่จ่ายน้ำชลประทานในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ สี่ทิศมีสะพานนาคมีเทพและอสูรชัก ทำให้พระนครกลายเป็นจักรวาลจำลองที่ “ปั้น” ความอุดมสมบูรณ์ให้อาณาจักรทั้งหมด และ “ปั้น” พลังน้ำให้กลายเป็นน้ำอมฤตที่จะพาจิตให้อยู่ในระดับสูงเท่าสวรรค์ เหล่านางอัปสรจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหลุดพ้นจากพันธะของดินน้ำสู่ความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม

ระบำอัปสรของราชสำนักเขมร เหล่านางอัปสรเหาะลงมาเก็บดอกไม้ในเมืองมนุษย์เพื่อเทพบนฟ้า ที่เธอลงมาถึงดินนั้นทำให้แผ่นดินของเราเกิดดอกไม้บานสะพรั่ง เยี่ยงสวนสวรรค์เพราะเธอเป็นสื่อฟ้าดิน


นางอัปสรมีหน้าที่ทางพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น การบังคับฝน ปลุกพลังเจ้าแม่ในแผ่นดินด้วยการบำเรอพระมหากษัตริย์ในฐานะนางใน ความงานของนางอัปสรเป็นเครื่องประดับดินพลีฟ้า

ระบำอัปสรเป็นพิธีกรรมของเจ้าแม่และเป็นการ่ายรำที่มีบทบาทสูงสุด นั่นคือการเข้าทรงปราชญาปรมิตา

คำว่า "อัปสร" นั้น มาจากคำว่า "อัป" (หมายถึง น้ำ) และ "สร" (หมายถึง การเคลื่อนไป) อัปสร จึงหมายถึง ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ อันเป็นกำเนิดของนาง ทว่าโดยทั่วไป ถือว่านางเป็นชาวสวรรค์

ในเรื่องเล่าของอินเดียมีการกล่าวถึงนางอัปสรไว้มากมาย นับว่าเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในตำนานของอินเดีย ไม่น้อยไปกว่าเทพเจ้าและชาวสวรรค์อื่นๆ

ตามตำนานของฮินดู กล่าวว่าพระพรหมทรงสร้างนางอัปสรขึ้น และเป็นนางบำเรออยู่ในราชสำนักของพระอินทร์ ในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ ได้กล่าวถึงนางอัปสรที่สำคัญไว้หลายตนด้วยกัน เช่น มัญชุเกศี, สุเกศี, มิสรเกศี, สุโลจนะ, เสาทมิณี, เทวทัตตะ, เทวเสนะ, มโนรม, สุทาติ, สุนทรี, วิคัคธะ, วิวิธ, พุธ, สุมล, สันตติ, สุนันทา, สุมุขี, มาคธี, อรชุนี, สรลา, เกระลา, ธฤติ, นันทา, สุปุษกลา, สุปุษปมาลา และ กาลภา

นางอัปสรมีอำนาจแปลงกายได้ ทั้งยังมีความสามารถในการขับร้องและเต้นรำเป็นอย่างยิ่ง ในราชสำนักของพระอินทร์มีนางอัปสรอยู่ 26 ตน แต่ละตนมีความสามารถในเชิงศิลปะต่างๆ กัน เทียบได้กับตำนานมูเซ (muse) ของกรีกโบราณ

นอกจากนี้ยังมีตำนานกล่าวต่อไปว่า นางอัปสรนั้นเป็นชายาของคนธรรพ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีในสวรรค์ โดยนางจะเต้นรำไปตามจังหวะดนตรีที่สามีของตนบรรเลง โดยทั่วไปมีความเชื่อว่านางอัปสรเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญงอกงาม แต่บางถิ่นก็เชื่อว่าอัปสรมีอำนาจแห่งความชั่วร้ายอยู่ด้วย

ในปราสาทนครวัดของกัมพูชา มีการสลักภาพนางอัปสรไว้มากมาย โดยที่แต่ละรูปมีใบหน้า ท่าทาง และการแต่งกายที่แตกต่างกันไป

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%AA%E0%B8%A3

www.oknation.net/blog/xkrit/2009/05/19/entry-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น