วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"เจ้าคุณจอมมารดาแพ" ที่รักยิ่งจอมกษัตริย์

วันนี้ขอเปิด ประเภทของบทความใหม่นะคะ นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกอย่างที่คนเขียนชอบมากกกกกกกก โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวกับในรั้วในวังสมัยก่อน บทความนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" (เจ้าคุณจอมมารดาแพ สกุลเดิม บุนนาค) ซึ่งเป็นรักครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่พระองค์ท่านยังทรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานาถ" เลยนะคะ ไปรับทราบประวัติของท่านกันเลยดีกว่าค่ะ ^^



เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) กำเนิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์(วร บุนนาค)กับท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์ไวยวัฒน์ (ท่านเจ้าพระยานั้นมีเอกภริยา 2 ท่านในเวลาเดียวกันคือ ท่านผู้หญิงอ่วม พี่สาว และท่านผู้หญิงอิ่ม น้องสาว ท่านผู้หญิงทั้ง 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน) พี่น้องร่วมมารดาของท่าน มีดังนี้

คุณหญิงศรีสรราชภักดี ( เล็ก โกมารกุล ณ นคร )
คุณฉาง บุนนาค
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
หลวงจักรยานานุพิจารณ์ ( เหมา บุนนาค )
จ่ายวดยศสถิต ( หมิว บุนนาค )
เจ้าจอมมารดาโหมด ปจ.ในรัชกาลที่ 5
หม่อมแม้น ภาณุพันธ์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช (ต้นราชสกุล ภาณุพันธุ์)
คุณเมี้ยน บุนนาค
คุณมิด บุนนาค

เจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นเจ้าคุณจอมมารดาพระสนมเอกผู้ใหญ่ หัวหน้าพระสนมทั้งปวงในรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเกียติยศขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษ โปรดเกล้าฯให้ออกนามว่า “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์”

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เกิดในวงศ์ราชินิกุลสาย “บุนนาค” ซึ่งเจ้าคุณพระอัยยิกานวล กนิษฐภคินี ในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค ต้นสกุลบุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา(เสน) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นตระกูล สืบสายลงมาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)พระประยูรวงศ์ได้เป็นพระสนมเอก และเป็นผู้เดียวที่ได้พระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ 4 และมีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้ยิ่งกว่าคนอื่น จึงโปรดให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศ เป็นลงยาราชาวดี(เดิมเครื่องยศพระสนมเอกเป็นพานทองมีเครื่องในทั้งหมดล้วนเป็นทองคำเกลี้ยง ต้องเป็นพระมเหสีเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนเป็นทองคำลงยาราชาวดี แสดงว่าทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เหนือกว่านักสนมอื่นใด) และพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อ ๆ มาก็มิได้มีพระราชดำรัสให้เรียกคืนตามประเพณีเก่า ด้วยทรงเคารพนับถือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ท่านจึงได้ครอบครองเครื่องยศทุกอย่างที่ได้รับพระราชทานจนตลอดอายุ ซึ่งนอกจากเครื่องยศทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ท่านยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้





เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า




เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ






เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 5







เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2





เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ชั้นที่ 1 มีลักษณะเป็นรูปไข่ มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.เรือนเงินประดับเพชรล้วนอยู่ในพวงมาลาและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ เครื่องหมายแพรแถบ พื้นสีเหลือง มีริ้วดำ 2 ข้าง เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น โดยสำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษไม่ผูก ใช้กลัดอกเสื้อ)




เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 2 (ชั้นที่ 2 มีลักษณะเป็นวงรี มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. อยู่ในขอบวงรีหยิกทะแยงสี่แง่ เรือนทองคำลงยาสีเขียว ขอบเรือนเงินประดับเพชร หูทองคำสำหรับร้อยแพรแถบ เครื่องหมายแพรแถบ พื้นสีเหลือง มีริ้วเขียว 2 ข้าง เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น โดยสำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษไม่ผูก ใช้กลัดอกเสื้อ)

กรณียกิจที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ นอกจากในรัชกาลที่ 5 จะได้เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวภายในราชสำนักแล้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรส และ พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 5 (หมายความว่า ท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้เป็นผู้ที่ถวายน้ำนมจากหน้าอกของท่านเองแก่บรรดาพระราชโอรส-ธิดา เพื่อเป็นปฐมมงคล แต่เมื่อปลายรัชกาลเมื่อท่านมีอายุสูงขึ้นนั้นจนตลอดในรัชกาลที่ 6 น่าจะเป็นการถวายน้ำนมจากพระนมที่มีการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันมากกว่าจะเป็นน้ำนมที่มาจากท่านเอง) หน้าที่นี้ท่านยังได้รับปฏิบัติสืบมาถึงรัชกาลที่ 6 คือได้เป็นผู้รับเบิกพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นครั้งที่สุด

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีพระเจ้าลูกเธอ 3 พระองค์ คือ

พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ( 2411-2447 )
พระองค์เจ้าสุวพักตรวิไลพรรณ ( 2416-2473 )
พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาส ( 2418-2434 )
ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกมาพำนัก ณ บ้านซึ่งได้รับพระราชทาน ณ ตำบลสามเสน จังหวัดพระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 บ้านนั้นได้รับขนานนามว่า "สวนสุพรรณ" และท่านได้พำนักอยู่จนถึงแก่พิราลัย

ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้ชีวิตไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตราด จันทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และไปไกลถึงเมื่องบันดุง ชวา และ ปีนัง อินโดนิเซีย และที่ต้องไปประจำภายหลังรับรดน้ำสงกรานต์แล้ว คือที่อ่าวเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์ เพราะท่านได้ไปปลูกบ้านตากอากาศไว้ที่นั่น

ในปี พ.ศ. 2484 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เมื่อวัยแก่ชราใกล้จะถึง 90 ปี นายกรัฐมนตรีประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง และให้ใส่เกือกใส่หมวกเป็นต้น รัฐบาลได้ชวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านก็ยินดีรับช่วยและเอาตัวของท่านเองออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นปฏิบัติตามท่านอย่างคึกคัก ท่านจึงได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลในสมัยนั้นและได้รับเชิญไปเข้าสมาคมและไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่างๆต่อมาเนือง ๆ นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่นๆ อีกในคราวฉลองอายุครบรอบ เช่น สร้างสุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ , บูรณะศาสนสถานต่างๆ ในวัดของบุรพชน ทั้งในและนอกจังหวัดพระนคร เป็นต้น

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้ถึงพิราลัย ขณะอายุได้ 89 ปีเศ๋ษ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี พ.ศ. 2486 ณ บ้านบรรทมสินธุ์ ตำบลเทเวศร์ กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น