อาคารแห่งนี้เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างขึ้นเป็นโรงซ่อมบำรุงรถจักรไอน้ำแต่ยกเลิกไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะรถจักรไอน้ำเปลืองค่าใช้จ่ายในการวิ่ง โดยเฉพาะฟืน
ด้วยสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่มีโครงสร้างแข็งแรงด้วยคอนกรีตและเหล็กสวยงามตามแบบรถไฟในยุโรป จากโรงซ่อมบำรุงจึงเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ เพื่อเก็บขบวนรถพระที่นั่งและหัวรถจักรต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในประเทศไทย แต่กระนั้นก็ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชม
หอเกียรติภูมิรถไฟในปัจจุบัน
หอเกียรติภูมิรถไฟ ก่อตั้งโดย ดร. สรรพสิริ วิรยศิริ ประธานชมรม “ เรารักรถไฟ” และชมรม “ พีระ-เจ้าดาราทอง” ท่านเป็นผู้บุกเบิกในหลาย ๆ ด้านของานสื่อสารมวลชน ทั้งทางด้านหนังสือ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และงานโฆษณา-สารคดี ทั้งยังค้นคว้าหาเกียรติภูมิของการรถไฟในอดีตมาเปิดเผยให้เป็นอนุสรณ์เยี่ยงอย่างแก่คนในปัจจุบัน ตลอดจนผู้บริหารและผู้ใช้บริการรถไฟทั้งปวง
ในปัจจุบัน หอเกียรติภูมิรถไฟอยู่ภายใต้การดูแลของนายจุลศิริ วิรยศิริ โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการยานยนต์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยเน้นว่าสิ่งนั้นจะต้องมีเกียรติภูมิ แสดงศักดิ์ศรีว่าได้ถูกใช้งานโดยบุคคลที่ควรยกย่องอาจเป็นของชิ้นแรก, ชิ้นสุดท้าย บุคคลแรก หรือบุคคลสุดท้ายที่ได้ใช้งาน สิ่งนั้นให้บังเกิดเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ประเทศชาติ และส่วนรวม อาทิ รถรางคันแรกที่คนไทยได้เห็นว่ายานยนต์นั้นวิ่งได้ด้วยเครื่องจักร ไม่ต้องใช้สัตว์หรือคนลากอย่างเช่นเกวียนหรือรถลาก หรือโบกี้รถไฟจัดเฉพาะสำหรับพยาบาลสร้างด้วยไม้สักทอง ในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งอาจหลงเหลืออยู่เพียงสองหลังสุดท้าย เป็นต้น
จากอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วจะจนถึงปัจจุบัน หอเกียรติภูมิรถไฟนอกจากจะจัดแสดงเฉพาะรถไฟแล้ว ในปัจจุบันยังจัดทำหอเกียรติภูมิยานยนต์ “ พีระ-เจ้าดาราทอง” และหอเกียรติภูมิเทคโนโลยีไท” ที่จัดแสดงทั้งการสื่อสาร, การคมนาคม, การสื่อสารมวลชน และในอนาคตอาจขยายพื้นที่และจัดแสดงสิ่งของเพิ่มเติมภายใต้นโยบายของหอเกียรติภูมิรถไฟว่า
เฉลิมพระเกียรติ ร. 5 เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
“ รักษาเอกราช พัฒนาชาติไทย”
ด้วยการให้ความรู้ ความคิดอ่าน เกิดวิจารณญาณ เพื่อคุณภาพชีวิตแก่คนทั้งปวง
กิจกรรมของหอเกียรติภูมิรถไฟ
1. นิทรรศการถาวรกึ่งหมุนเวียน
ในแต่ละปี หอฯ จะจัดแสดงวัตถุแห่งเกียรติภูมิ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ยายนต์และอุปกรณ์เทคโนโลยีของวงการสื่อสารโฆษณาที่เป็นปูมหลังและความภาคภูมิใจของ อ. สรรพสิริ วิรยศิริ จะปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายและเพิ่มจำนวนจัดแสดง โดยวัตถุทุกชิ้นในหอฯ สามารถจัดต้องได้รับความรู้สึกโดยตรง และแบบจิตสัมผัส เปิดโอกาสให้เป็นการเรียนแบบ ดูด้วยตา มือต้องได้ สมองสัมผัส ปากขยับถาม อย่างที่ ร..5 ทรงรับสั่งว่าการศึกษาอย่างนี้เป็นแบบ “ ครูพัก ลักจำ”
2. งานบริการการศึกษา
ในอดีตหอฯ แห่งนี้เคยเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนแห่งแรก ที่ให้การศึกษาแบบให้เปล่า โดยทางหอฯ จัดหาโสตทัศนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ฟรี เช่นสมุด หนังสือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ปัจจุบันยังมีห้องสมุดเทคโนโลยีให้บริการยืมหนังสือฟรี
วาระสุดท้ายของหอเกียรติภูมิรถไฟ
นายจุลศิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการหอเกียรติภูมิรถไฟไทย ร่วมกับเครือข่าย และประชาชนประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระในวันปิยมหาราช และเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้เข้าชมหอเกียรติภูมิรถไฟไทยบริเวณสวนจตุจักร หลังจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะขอคืนอาคารเพื่อนำไปจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รถไฟ สำหรับหอเกียรติภูมิรถไฟไทยเปิดทำการมา 23 ปี ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2533 ในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) จะเคลื่อนย้ายสิ่งของที่เป็นทรัพย์สินของชมรมออกไปก่อน จากนั้นจะเริ่มขนย้ายหัวรถจักรซึ่งมีอยู่ 13 หัว ไปยัง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ทะลุภูเขาเป็นอุโมงค์รถไฟลอด ก่อนหน้านี้ได้เคยเจรจาให้ รฟท.เข้ามาดูแลแทน แต่ไม่เป็นผล---------------------------------------------------------
แน่นอนว่า คำถามหนึ่งคงเกิดขึ้นในใจของทุกคนก็คือ ทำไมการรถไฟฯ ถึงทำเช่นนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางสำคัญต่อการเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม
แม้ว่างานนี้จะยังไม่สามารถนำผู้บริหารจากการรถไฟฯ มาตอบคำถามให้กระจ่าง แต่เหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ ก็คงจะพอให้เห็นภาพกันได้บ้างว่า เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งความรู้ของประเทศไทย ที่ชื่อว่า 'หอเกียรติภูมิรถไฟ' บันทึกความพ่ายแพ้อีกหน้าของประวัติศาสตร์รถไฟไทย
[1] หากนับย้อนหลังไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน พื้นที่ของหอเกียรติภูมิรถไฟนี้ เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทยก็เคยทำเป็นอาคาร 'พิพิธภัณฑ์รถไฟ' มาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยภายในนั้นได้บรรจุรถไฟประวัติศาสตร์จำนวนมาก ทั้งหัวลากดีเซลรุ่นต่างๆ แหละหัวจักรรถไฟไอน้ำ ตลอดจนรถไฟพระที่นั่งของบุรพกษัตริย์ไทย หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สักเท่าใดนัก
จนกระทั่งภายหลัง การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่ตั้งอาคารนี้เพื่อพระราชทานให้กรุงเทพมหานครจัดทำเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ 'สวนจตุจักร' นั่นเอง แต่ทว่าปัญหาก็คือ อาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ทาง กทม.กลับไม่ได้รับอำนาจให้ดูแลด้วย เพราะยังถือเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ อยู่ อาคารดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่าไร้ผู้สนใจ แถมยังมีโครงการที่รื้อถอนอาคารทิ้งอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้เอง พอปี 2533 ชมรมเรารักรถไฟ ซึ่งก่อตั้งโดย สรรพสิริ วิรยศิริ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 จึงได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ดังกล่าว จากการรถไฟฯ เพื่อสืบสานปณิธานเริ่มแรกที่ตั้งใจจะใช้พื้นที่นี้เพื่อบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์รถไฟซึ่งมีมานานเกือบ 100 ปี
“ความจริงแล้วเราอยากจะดูแลโดยใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์รถไฟเหมือนอย่างเดิม แต่การรถไฟฯ ก็แจ้งมาว่าเราทำไม่ได้ เนื่องจากเราเป็นเอกชน และมันก็ไม่มีกฎระเบียบยอมรับด้วย คุณพ่อ (สรรพสิริ) ก็เลยบอกขอเฉพาะอาคารได้ไหม ระงับการรื้อไว้ชั่วคราวก่อน ซึ่งการรถไฟฯ ก็ตกลงแต่มีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ อย่างที่หนึ่งจะให้อาคารเปล่า โดยค่าน้ำ ค่าไฟ จะถูกตัดหมดเพราะยกเลิกการเป็นอาคารของการรถไฟฯ แล้ว อย่างที่สองต้องใช้เงินในการดำเนินการด้วยเงินส่วนตัว และห้ามการค้าใดๆ ทั้งสิ้น อย่างสุดท้ายคือให้ดำเนินการให้สมเกียรติการรถไฟฯ” จุลศิริ วิรยศิริ ทายาทของสรรพสิริที่เข้ามาทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ต่อจากบิดา รำลึกถึงที่มาที่ไปของหอเกียรติภูมิรถไฟ
ด้วยเหตุนี้ สมบัตินับร้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยเอง หรือสมบัติส่วนตัวของสมาชิกชมรมเรารักรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นหัวรถจักร ตู้โบกี้ ซึ่งบางคันก็เหลือเพียงชิ้นเดียวในประเทศ ถูกถ่ายเทเข้ามาอยู่ในหอเกียรติภูมิแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า แต่ละชิ้นต่างก็มีเรื่องราวอันยาวนาน ที่แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางคมนาคมของชาติที่เคยได้ชื่อว่า หนึ่งในผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง 'สยามประเทศ' “รถรางหลายคันที่เราเจอมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก อย่างบางคันก็เป็นหนึ่งในสิบคันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานเอาไว้ให้ บางคันก็เป็นยานยนต์ 1 ใน 10 คันแรกของประเทศไทยด้วย หรือบางคันเป็นรถคันสุดท้ายแต่ไม่เคยวิ่งเลย เช่น รถจักรไอน้ำ 1009 ซึ่งเป็นรถที่ชาวไต้หวันนำมาขอสัมปทานวิ่งเมื่อปี 2506 หรืออย่างรถไฟพยาบาล ที่เป็นไม้สักทองทั้งหลังเลย เป็นต้น”
[2] หากทว่าตลอดระยะเวลา 21 ปี หอเกียรติภูมิรถไฟไม่เคยรับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการใดเลย เพราะฉะนั้นการจะทำให้หอเกียรติภูมิแห่งนี้สามารถคงอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นภาระหนักที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ของผู้ดูแลอย่าง จุลศิริเลย เพราะแม้แต่การจ้างคนก็ยังทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีรายได้เพียงพอ และไม่เพียงแค่นั้น ในปี 2552 หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้ ก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างฉกาจฉกรรจ์จากการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกต่างหาก
“ตอนนั้น มีหนังสือเป็นทางการมาบอกว่าให้ส่งมอบอาคารคืน ยุติการเป็นอาคารเกียรติภูมิรถไฟ ด้วย 2 ข้อหา คือ หนึ่ง เขาบอกว่าเรากำลังจะเปลี่ยนชื่อหอเกียรติภูมิรถไฟเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งผมก็แย้งไปว่าผมไม่เคยเปลี่ยนชื่อนะ แต่เรามีการเข้าร่วมประชุมกับการรถไฟฯ แล้วบอกว่าคุณควรมีพิพิธภัณฑ์สักทีหนึ่งนะ แต่เขาบอกว่าติดปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะฉะนั้นทางการรถไฟฯ จึงขอให้เอกชนโดยเฉพาะชมรมเรารักรถไฟเป็นแกนหลักได้ไหม เพื่อเร่งเป็นพิพิธภัณฑ์
“พอเรากลับมาก็มีหนังสือว่า เราจะมีรายได้จากการทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นการเข้าใจผิดกัน แต่ข้อสองที่มันดูตลกมาก คือเขาบอกว่าเรากำลังมีรายได้จากหอเกียรติภูมิรถไฟ ผมถามว่าเรามีรายได้อะไรเนื่องจากทั้งหอเรามีเพียงแค่ตู้น้ำดื่ม และเราก็ขายน้ำขวดละ 5-10 บาท เขาไม่ตอบ ผมเลยอนุโลมว่า นี่คือความผิดมั้ง เพราะทั้งเนื้อทั้งตัวเรามีแค่เนี้ย แม้แต่ของที่ระลึกหรือใครมาขอซื้อเรายังไม่ขายเลย”
เพราะฉะนั้นเพื่อยุติปัญหา จุลศิริจึงตัดสินใจยอมย้ายออกจากพื้นที่อื่น แต่ทว่าก็ติดปัญหาอยู่เรื่องก็คือ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นของการรถไฟฯ เช่น พวกหัวรถจักรและตู้โบกี้นั้น ทางชมรมฯ นั้นไม่มีสิทธิ์เอาไปด้วย และหากจะขอซื้อก็สามารถทำได้ แต่ตามระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น ก็ระบุไว้ว่าจะต้องตัดทำลายเป็นชิ้น เพื่อป้องกันการนำมาใช้ประโยชน์ในรูปเดิม พูดง่ายๆ ก็คือ ขายเป็นเศษเหล็กนั่นเอง ขณะเดียวกัน ถึงตอนนี้การรถไฟฯ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วจะจัดการกับพื้นที่ตรงนี้ รวมไปถึงข้าวของประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างไรกันแน่
[3] และเป็นเรื่องแน่นอนว่า การปิดฉากของหอเกียรติภูมิรถไฟ สวนจตุจักรนี้ย่อมนำความอาลัยมาสู่ผู้คนที่คุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากที่นี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี ชนิดเพียงเดินเข้าไปก็สัมผัสได้ถึงความรู้และความสุขแล้ว
ที่นี่ยังนับเป็นแหล่งถ่ายภาพชั้นดีอีกด้วย ธนากร อิ้วตกส้าน เจ้าของเว็บไซต์ช้างอิมเมจดอตคอม ซึ่งมักชวนผู้คนมาถ่ายรูปที่นี่เสมอ เปิดเผยความรู้สึกว่า เสียดายมาก หากหอเกียรติภูมินี้ต้องปิดตัวลงไป เพราะต้องยอมรับว่า ของที่เก็บอยู่ที่นี่ ถือเป็นสิ่งที่มีค่า เช่น รถรางที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งบ่งบอกบรรยากาศเก่าๆ ของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี และหากมีการเปิดต่อไป ประชาชนจะต้องมาชมมากกว่านี้
เช่นเดียวกับคนที่ทำพิพิธภัณฑ์มาตลอดชีวิตอย่าง เอนก นาวิกมูล นักสะสม และผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ของประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องของการเก็บรักษามรดกของชาติที่ถูกละเลยโดยคนที่มีอำนาจในสังคม ซึ่งบอกว่า รู้สึกแปลกใจมากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา “ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิด เพราะทุกคนรู้นะว่าสิ่งเหล่านี้มีค่า และถ้าไม่มีแหล่งเก็บก็จะไปหาดูได้ที่ไหนก็ไม่รู้ พิพิธภัณฑ์ของการรถไฟเองผมก็ไม่เห็นว่าจะมีที่ตรงไหน คนที่ทำเขาเสียกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์มานานเป็นหลายสิบปี แต่สุดท้ายก็ไปให้เขาเลิก”
ไม่เพียงเท่านั้น อีกทีหนึ่งที่ดูจะซึมซับการจากไปครั้งนี้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือห้องกล้องในเว็บไซต์พันทิป โดยปลา-ธนาสิริ สุธีธร หนึ่งในสมาชิกของห้องนี้ บอกว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อจัดทำหนังสือบันทึกหลักฐานและเรื่องราวอันน่าจดจำของหอเกียรติภูมิรถไฟเอาไว้ “เรื่องเริ่มจากเห็นกระทู้ ลุงตุ้ย (จุลศิริ) ผู้พิทักษ์มรดกรถไฟไทย ที่โพสโดยคุณ norimishi พออ่านเสร็จก็แชร์ลิงค์ไปในเฟซบุ๊ก แล้วพี่สาวก็นำไปแชร์ต่อในกลุ่มเป็นกลุ่มที่อาจารย์ของปลา (ธนาสิริ) ตั้งขึ้นค่ะชื่อ เวทีพิพิธภัณฑ์ หลังจากนั้น พี่ตู๋ รุ่นพี่ที่เรียนจบจากที่เดียวกัน เคยได้ไปออกแบบแผ่นพับให้ลุงตุ้ยเมื่อตอนเรียนก็อยากจะทำหนังสือให้ โดยพี่ตู๋มีไอเดียว่า ถึงไม่มีหอเกียรติภูมิรถไฟแล้วอย่างน้อยก็มีหนังสือไว้เป็นหลักฐานพอดีเพื่อนในรุ่นว่าง เพราะเพิ่งเรียนจบ ก็เลยอาสาไปด้วย ซึ่งพอไปคุยกับลุงตุ้ยเลยรู้ว่าลุงตุ้ยจะทำหนังสืออยู่แล้ว ทุกอย่างก็ตกลง”
ซึ่งกระบวนการครั้งนี้ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากสมาชิกออนไลน์ของเว็บไซต์ที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ส่งภาพถ่ายมาให้เป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ตอนที่ไปติดต่อโรงพิมพ์เพื่อขอให้จัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ให้ ก็ยังได้รับความอนุเคราะห์ในเรื่องค่าใช้จ่ายอีกด้วย
[4] แม้หนังสือที่เกิดขึ้นนี้จะมาจากความตั้งใจที่ดี แต่สุดท้ายก็คงทำหน้าที่ได้เพียงแค่บันทึกความทรงจำดีๆ เอาไว้เท่านั้น เพราะต้นเหตุของปัญหานี้อยู่ที่การไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์เท่าที่ควรของคนหรือหน่วยงานในสังคมไทย โดยเฉพาะหากสิ่งนั้นไม่มีผลประโยชน์เข้ามาข้องเกี่ยว
แน่นอนว่า ประเด็นหนึ่งที่ทุกคนต่างจับตาดูก็คือ สุดท้ายแล้ว ท่าทีของการรถไฟฯ นั้นเป็นเช่นใด ซึ่งเรื่องนี้จุลศิริ เคยกล่าวเอาไว้กับเจ้าของพื้นที่ว่า หลังจากที่เขาย้ายออกไปแล้ว ก็อยากจะขอให้นำพื้นที่นี้เป็น 'พิพิธภัณฑ์รถไฟ' ตามความประสงค์ดั้งเดิมของหน่วยงาน ซึ่งถึงตอนนี้ก็เหมือนยังไร้คำตอบจากผู้บริหาร
ที่สำคัญจากประสบการณ์การทิ้งร้างอาคารไว้เมื่อ 20 ปีก่อนนั้นถือเป็นพยานชั้นดีว่า หากไม่มีผลประโยชน์แล้ว ก็ยากที่จะสามารถรักษาประวัติศาสตร์ตรงนี้เอาไว้ได้ “ก่อนคุณสรรพสิริจะนำมาจัดแสดงที่นี้ อาคารนี้ก็คือป่าช้ารถไฟและผุพังลงไปทุกวัน ในความเห็นของปลา ทางออกที่ดีที่สุดคือการรถไฟแห่งประเทศไทยควรจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟ และเท่าที่ทราบการรถไฟฯ ก็เคยมีโครงการอยู่แล้ว แต่ก็เงียบหายไป เพราะฉะนั้น หากการที่คนหันมาสนใจความเป็นไปของหอเกียรติภูมิรถไฟแล้วช่วยกันเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย รื้อฟื้นโครงการพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมาได้สำเร็จ คงจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ที่แรงเรียกร้องของศิลปิน ที่ทำให้โครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฟื้นกลับขึ้นมาได้” ธนาสิริอธิบายความห่วงใยที่สัมผัสได้
ขณะเดียวกัน ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ ก็คือ การที่ผู้มีอำนาจจะต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ โดยเอนกชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วตามระเบียบราชการนั้นก็มีกฎที่เกี่ยวกับการโอนถ่ายทรัพย์สินอยู่แล้ว ซึ่งหากเจ้าของสินทรัพย์เองไม่มีกำลังหรือประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดูแลทรัพย์สิน ก็น่าจะมอบให้ผู้ที่เหมาะสมทำให้เห็น
“จริงๆ มันมีหนทางแก้ไขอยู่ เช่น อาจจะทำเรื่องบริจาคให้กับองค์กรที่มีคนดูแลอยู่แล้วอย่างมิวเซียมสยามก็ได้ หรือไม่ก็ให้กรมศิลปากรก็ได้ แต่มันจะเป็นจริงได้หรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะระบบราชการบ้านเรามีขั้นตอนเยอะ”
[5] อย่างไรก็ดี แม้ถึงตอนนี้จะเป็นเรื่องลำบากเสียแล้วที่จะเหนี่ยวรั้งสถานที่แห่งความทรงจำเอาไว้ได้ แต่จุลศิริ ก็บอกให้ทราบถึงข่าวดีว่า ตอนนี้เขามีแผนสำรองเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะย้ายหอเกียรติภูมิฯ พร้อมกับของในส่วนของชมรม มาอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาแทน ซึ่งจะทำการย้ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2555
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการเคลียร์ของ เพราะในหอฯ มีทั้งรถไฟและสิ่งอื่นๆ เต็มไปหมด เช่น รถยนต์ เครื่องบิน ผมมีแม้แต่ซากเครื่องบินที่ญี่ปุ่นตกในสะพานข้ามแม้น้ำแควนะ ซึ่งของมันเป็นหมื่นตันเลย และหอนี่ก็กินเนื้อที่ถึง 1 ไร่ โดย การขนย้ายทั้งหมดเราจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งผมตั้งใจว่า การออกแบบอาคารใหม่นั้นจะทำให้เหมือนกับหัวลำโพงย่อส่วนมา”
.......... แม้ตอนนี้ หอเกียรติภูมิรถไฟจะเป็นเพียงกรณีเล็กๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับปัญหาในสังคมไทย แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้ก็เป็นเครื่องตอกย้ำได้ดี ถึงความล้มเหลวของการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้ให้อยู่คู่กับสังคมเพราะมรดกของชาตินั้น ก็เปรียบเหมือนรากเหง้าที่ทุกคนควรมีส่วนช่วยดูแลรักษา และไม่ปล่อยให้ตายไปกับกาลเวลา
เหมือนที่จุลศิริได้เล่าถึงมูลเหตุที่เขาทุ่มเทกับเรื่องนี้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดรถไฟหลวงขบวนปฐมฤกษ์เมื่อปี 2439 ทรงเคยมีพระราชปรารภกับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี ราชเลขานุการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นปู่ของเขาว่า
“หัวลำโพงมันแคบไป ท่านก็เลยบอกให้คุณปู่ผมเวนคืนที่ดินตรงบางซื่อทั้งหมดเพื่อทำเป็นชุมทางรถไฟใหญ่ แล้วทำเสร็จแล้วให้ย้ายหัวลำโพงมาตั้งที่บางซื่อ แล้วให้หัวลำโพงเป็นมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์) เพื่อจะเก็บสิ่งที่ท่านให้ในวันนี้และวันต่อไปในภายภาคหน้า จะได้เป็นที่ระลึกเพื่อการเรียนรู้จะได้รู้ว่าการพัฒนาของประเทศเริ่มโดยการรถไฟ”
ที่มา : http://www.thaitransport-photo.net/railwayhall/
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/428098.html
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076377
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.ssru.ac.th/linkssru/wed/moral/admin/fileexposition/20.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น