วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์ต่างชาติผู้ทรงเป็นที่รักของชาวไทย



สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
(ภาษาซองคา : འཇིགས་མེད་གེ་སར་རྣམ་རྒྱལ་དབང་ཕྱུག་)
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงได้รับการยกย่องจากชาวภูฏานรวมถึงชาวไทยส่วนใหญ่ว่าทรงมีพระจริยวัตรที่งดงาม และเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวภูฏาน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จากการที่ทรงวางพระองค์อย่างเป็นกันเองในหมู่ประชาชน จึงสร้างความประทับใจแก่พสกนิกรอย่างสูง ถึงแม้ว่าพระองค์ไม่ต้องทรงรับพระราชภารกิจการบริหารประเทศ เนื่องจากสมเด็จพระราชบิดาได้ทรงวางระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาอยู่ก่อนแล้ว แต่พระองค์เองก็ยังทรงเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ในการสร้างเอกภาพและเสถียรภาพ ในประเทศที่มีประชากรเพียง 650,000 คน โดยมุ่งเน้นด้านความสุขมวลรวมของประชากรภายในประเทศเป็นสำคัญ

พระราชประวัติ
เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก และ สมเด็จพระราชินี อาชิ เชอริง ยางดน วังชุก ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์ที่สาม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าหญิงอาชิ เดเชน ยังซัม และพระอนุชามีพระนามว่า เจ้าชาย ดาโช จิกมี ดอร์จิ วังชุก

การศึกษา
ภายหลังเจริญพระชันษา พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ในระดับมัธยมศึกษาที่ คัชชิง อคาเดมี (Cushing Academy) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสหศึกษาที่มีชื่อเสียงของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ มีอายุกว่า 100 ปี และทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวีตัน (Wheaton College) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์ในมลรัฐเดียวกัน ก่อนที่จะเสด็จมาศึกษาต่อปริญญาโท ในสาขาการทูต (Foreign Service Programme) และสาขาวิชาการเมืองที่ วิทยาลัยแม็กดาเลน (Magdalen College) มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระราชบิดาไปยังต่างแดนในหลายโอกาส และทรงเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมต่างๆ รวมไปจนถึงการศึกษา และองค์กรเศรษฐกิจหลายแห่ง

การทูลเกล้าถวายปริญญา
- มหาวิทยาลัยรังสิตได้ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้กับสมเด็จพระราชาธิบดี (เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549
- มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทูลเกล้าถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาส่งเสริมการเกษตร ให้กับสมเด็จพระราชาธิบดี นอกจากนี้พระองค์ยังส่งนักศึกษาและบุคคลสำคัญเข้ามาศึกษา ดูงาน และสัมมนาที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประจำ

เสด็จขึ้นครองราชย์
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมชุก พระราชบิดาของพระองค์ทรงสละราชสมบัติพระราชทานให้แก่เจ้าฟ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมาร พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยทรงมีพระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างแรกด้วยการพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันชาติของภูฎาน หลังจากนั้นประมาณสองปี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พระองค์ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังในกรุงทิมพู

ราชาภิเษก
ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกที่จัดขึ้นในพระราชวังทาชิโชซอง ในเมืองทิมพู โดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงเป็นผู้ประกอบพระราชพิธี โดย พระราชทานมงกุฎไหมสีแดงดำแด่พระองค์ นอกจากนี้ยังมีนางซอนยา คานธี ประธานรัฐสภาของอินเดียเข้าร่วมในพิธีด้วย ทั้งนี้พระองค์จะสืบบัลลังก์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก และยังทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์ที่สุดในโลก ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 28 พรรษา และจะทรงปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงฉลองพระองค์สีแดงทองที่เป็นชุดคลุมยาวปิดเข่าอันเรียกกันว่า "โฆ" ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของชายชาวภูฏาน ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์ทองคำ พระพักตร์เคร่งขรึม แต่ก็ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อยขณะทรงรับเครื่องถวายแด่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ ใหม่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และยังทรงมีพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรหลายพันคนที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในตอนบ่ายของวันเดียวกันว่า "ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งใด" "สิ่งที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้าคือความหวังและความมุ่งมาดปรารถนาของ ประชาชน และพระชนมายุอันยืนยาวและพระพลานามัยอันแข็งแรงสำหรับสมเด็จพระราชบิดา จิกมี ซิงเย วังชุก ของข้าพเจ้า" "ในโอกาสอันพิเศษยิ่งนี้ ขอให้ร่วมกันสวดมนต์และขออธิษฐานขอให้แสงตะวันเฉิดฉันแห่งความสุขจะสาดส่อง ลงมาที่ประเทศชาติของเราเสมอไป"

นอกจากประชาชนหลายพันคนที่มารวมตัวกันถวายพระพรแด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งประกอบพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีแขกสำคัญที่ร่วมในพิธีดังกล่าวคือ ประธานาธิบดีประติภา ปาติลแห่งอินเดีย และนางโซเนีย คานธี นักการเมืองคนสำคัญของอินเดียพร้อมด้วยบุตรธิดา เนื่องจากครอบครัวคานธีนั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับราชวงศ์ภูฏาน
ซีเอ็นเอ็น ได้รายงานข่าวการเฉลิมฉลองพระราชาภิเษกนี้ โดยระบุว่า มีการร่วมเฉลิมฉลองตามถนนหนทาง เล่นดนตรี มีการประดับประดาดอกไม้ตามศูนย์ต่างๆเพื่อแสดงการเฉลิมฉลองในโอกาสที่มีกษัตริย์พระองค์ใหม่ ตลอดจนมีการรายงานถึงความรู้สึกของพสกนิกรชาวภูฏานที่ทั้งต่างแสดงความดีใจ และสะเทือนใจในการสละราชสมบัติอย่างกระทันหันของพระราชบิดาไปพร้อมๆกัน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้ทรงประกาศหมั้นกับ เจตซุน เพมา ซึ่งเป็นหญิงสาวสามัญชน โดยทั้งสองมีกำหนดการอภิเษกสมรสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554



พระราชพิธีอภิเษกสมรส
พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระราชาธิบดี'และสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน จัดขึ้น ณ มณฑลพูนาคา ประเทศภูฏาน
ให้ประชาชนได้ยลโฉมพระราชินีองค์ใหม่กันอย่างเป็นทางการ หลังงานพิธีอีกครั้ง และพวกเขาก็ไม่ผิดหวัง เมื่อทั้งสองพระองค์ยืนเคียงคู่กันโดดเด่นที่สุดในงาน แถมกษัตริย์จิกมี่ยังทรงจุมพิตพระราชินีอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกอีกด้วย

โดยในพิธีเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสของกษัตริย์จิกมี่นั้น มีการแสดงระบำพื้นเมืองและศิลปะดนตรีประจำชาติภูฏานตั้งแต่เช้าไปจนถึงช่วงบ่าย ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมงานนับหมื่นคนที่นั่งอยู่เต็มอัฒจรรย์สนามกีฬากลาง ซึ่งในงานนี้ กษัตริย์จิกมี่ได้ทรงร่วมเต้นรำร่วมกับคณะนักแสดงด้วย



สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน พร้อมด้วย นางสาวเจตซุน เปมา เจ้าสาว เดินทางถึงศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ในเมืองพูนาคา ซอง (Punakha Dzong) สถานที่ใช้ในการประกอบพิธีอภิเษกสมรส โดยในพิธีประกอบด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระบิดา พร้อมด้วยพระมเหสีทั้ง 4 พระองค์ , เจ้าบ่าว-เจ้าสาว และพระสังฆราช หรือ เจเคนโป (Je Khenpo) และห้ามมิให้สื่อมวลชน เข้าทำข่าวเกินกว่าสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ รวมถึงห้ามประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

ถึงแม้ว่าเจ้าสาวจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปห้องโถงภายในศาลเจ้าที่ใช้ในการประกอบพิธี แต่นางสาวเปมา ได้ทำพิธีหมอบกราบอยู่ด้านนอก เพื่อขอพรจาก "ซับดรุง งาวัง นัมเยล" ลามะองค์สำคัญของภูฏาน ในสมัยศตวรรษที่ 17 ท่ามกลางงานพิธีที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่สวมโก (Gho) ชุดประจำชาติที่ของภูฏาน

นางสาวเจตซัน เปมา ขณะนี้ขึ้นดำรงตำแหน่ง พระราชินีองค์ใหม่แห่งราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการแล้ว หลังเข้าพิธีอภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของชาวภูฏานทั้งประเทศ จนได้รับการขนานนามว่า "ดรากอน คิง" โดยหลังจากนี้ไป จะมีการเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง 3 วัน พร้อมด้วยงานรื่นเริ่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ



โดยนางสาวเจตซัน เปมา (Jetsun Pema) เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2533 ในกรุงทิมพู เมืองหลวงของประเทศภูฏาน เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 5 คนของนายโทนทับ ดียัลเซน (Dhondup Gyaltshen) และนางโซนัม สุกี (Sonam Chuki)

นางสาวเจตซัน เปมา จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ในโรงเรียนที่ประเทศภูฏาน ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่ลอว์เรนซ์ สคูล ในซานาวาร์ หิมาจัลประเทศ และที่เซนต์โจเซฟ คอนแวนต์ ในกาลิมพง ประเทศอินเดีย และขณะนี้กำลังศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรีเจนต์ คอลเลจในลอนดอน ประเทศอังกฤษ



ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ยังได้ตรัสถึงว่าที่พระราชินีของพระองค์อย่างเป็นทางการว่า แม้ เจตซัน เปมา จะมีอายุน้อย แต่เธอเป็นผู้มีบุคลิกและจิตใจที่อบอุ่นอ่อนโยน มีเมตตา ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับภูมิปัญญาที่เธอจะได้รับ ในอนาคตเมื่อเธอมีวัยวุฒิและสั่งสมประสบการณ์ได้มากขึ้น เธอจะข้ารับใช้ที่ดีของแผ่นดินภูฏาน

มาดูวินาทีที่ทรงได้รับการร้องขอให้แสดงความรักต่อพระราชินีเจตซุน เปมา ด้วยการจุมพิต กันค่ะ ทำให้พสกนิกรต่างยิ้มกว้างกับภาพที่ได้เห็น ขณะที่กษัตริย์จิกมีก็ทรงมีท่าทีเขินอายเป็นอย่างมาก...^^



(สามารถดูเป็นคลิปวิดีโอได้ที่ : http://www.youtube.com/watch?v=hM8W35ED2GU ค่ะ ^^)

พระราชกรณียกิจ
-สมเด็จพระราชาธิบดีเคเซอร์ เป็นหนึ่งในพระราชอาคันตุกะ ที่เสด็จทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ กรุงเทพมหานคร ในขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระราชอาคันตุกะที่มีพระชนมายุน้อยที่สุด ในหมู่ราชวงศ์ที่มาร่วมงาน

-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงเสด็จเยือนประเทศไทยอีกครั้งเพื่อเสด็จเยี่ยมชมสวนดอกไม้ของภูฏาน ในงานพืชสวนโลกที่จัดขึ้นในเชียงใหม่ และทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในช่วงเวลาต่อมา
-ทรงร่วมลงพระนามในสนธิสัญญามิตรภาพกับประเทศอินเดียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 แทนฉบับเดิม ซึ่งคือฉบับ พ.ศ. 1949

พระอิสริยยศ
-เจ้าฟ้าชาย ดาโช จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก (พ.ศ. 2523 — 2547)
-เจ้าฟ้าชาย โชเซ เพนลป จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน (พ.ศ. 2547 — 2549)
-สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (พ.ศ. 2549 — ปัจจุบัน)

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5_%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C_%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5_%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%81

http://hilight.kapook.com/view/58989

ภาพประกอบจาก Facebook ของพระองค์ :http://www.facebook.com/KingJigmeKhesar

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น