วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

เนลสัน มันเดลา



เนลสัน โรลิฮฺลาฮฺลา มันเดลา(อังกฤษ: Nelson Rolihlahla Mandela; สำเนียงภาษาคโฮซา: [xoˈliɬaɬa manˈdeːla])
เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ที่เมืองทรานส์คีย์ ประเทศแอฟริกาใต้ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2542 และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งนี้นี้ เขาได้เป็นที่รู้จักกันทั้งในและนอกประเทศในฐานะที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวตัวยงเพื่อต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ จากที่แรกเริ่มเป็นผู้เคลื่อนไหวในทางสันติ ได้กลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่น การก่อวินาศกรรม ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำต่างชาติที่นิยมนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ เช่น มากาเรท เท็ตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ได้ประณามกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นการก่อการร้าย

เขาถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการถูกคุมขังในห้องขังเล็ก ๆ บนเกาะร็อบเบิน การถูกคุมขังนี้ได้กลายมาเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายแยกคนต่างผิวที่ถูกกล่าวถึงไปทั่ว เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2533 นโยบายประสานไมตรีที่เนลสันได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย ในขณะนี้ เนลสัน มันเดลา มีอายุกว่า 90 ปีแล้ว เป็นที่ยกย่องอย่างสูงภายในประเทศแอฟริกาใต้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ชาวแอฟริกันจะขนานนามสมาชิกชายอาวุโสของตระกูลมันเดลาอย่างให้เกียรติว่า มาดิบา แต่มักเจาะจงหมายถึงเนลสัน มันเดลาเท่านั้น

เนลสัน มันเดลา ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากกว่า 250 รางวัลตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษ รางวัลที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536

ช่วงแรกของชีวิต
เนลสัน มันเดลา เป็นผู้สืบทายาทสายหนึ่งของราชวงศ์เทมบู ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นทรานส์คีย์ในจังหวัดเคปของประเทศแอฟริกาใต้[2] เขาเกิดที่มเวโซ (Mvezo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในเมืองอุมตาตา เมืองหลวงของทรานส์คีย์ ปู่ทวดของเขาคือ งูเบงคูคา (Ngubengcuka, เสียชีวิตปี พ.ศ. 2375) เป็นผู้ครองแคว้นในตำแหน่ง อิงโคซี เองคูลู (Inkosi Enkhulu) หรือ "กษัตริย์" ของชาวเทมบู โอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์มีชื่อว่า มันเดลา เป็นปู่ของเนลสัน และเป็นที่มาของนามสกุลของเขา อยางไรก็ดี เนื่องจากเขาเป็นบุตรแห่ง อิงโคซี เพียงคนเดียวที่เกิดจากภรรยาจากตระกูล อิกซิบา (หรือบ้างเรียกว่า "ราชวงศ์ฝั่งซ้าย") ดังนั้นผู้สืบตระกูลในสายนี้จึงไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์ของเทมบู

บิดาของมันเดลาคือ กัดลา เฮนรี มพาคันยิสวา (Gadla Henry Mphakanyiswa) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านมเวโซ[4] แต่ในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคม เขาถูกยึดตำแหน่งไปและขับไล่ให้ไปอยู่ที่ควูนู อย่างไรก็ดี มพาคันยิสวายังคงเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของ อิงโคซี อยู่ มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือจองกินตาบา ดาลินเยโบ (Jongintaba Dalindyebo) ให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเทมบู ดาลินเยโบผู้นี้ต่อมาได้ให้การช่วยเหลือตอบแทนโดยรับตัวมันเดลาเอาไว้ในอุปถัมภ์หลังจากที่มพาคันยิสวาเสียชีวิต บิดาของมันเดลามีภริยา 4 คน และมีบุตรทั้งสิ้น 13 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 9 คน มันเดลาเป็นบุตรที่เกิดจาก โนซีคีนี แฟนนี ภริยาคนที่สาม (ตามลำดับอันซับซ้อนของทางราชวงศ์) แฟนนีเป็นบุตรสาวของนเคดามาแห่งตระกูลมเพมวู ธอห์ซา ซึ่งเป็นราชวงศ์ฝั่งขวา เป็นที่ซึ่งมันเดลาเจริญเติบโตขึ้น ชื่อจริงของมันเดลาคือ โรลีห์ลาห์ลา มีความหมายว่า "ดึงกิ่งก้านของต้นไม้" หรือเรียกอย่างเป็นกันเองว่า "เจ้าตัวยุ่ง"

โรลีห์ลาห์ลา มันเดลา เป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่ได้ไปโรงเรียน ครูของเขาคือนางสาวมดินกานี (Mdingane) เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า "เนลสัน"

เมื่อมันเดลาอายุได้ 9 ปี พ่อของเขาเสียชีวิตด้วยวัณโรค และทางราชสำนักของจองกินตาบาได้รับเขาไว้ในอุปถัมภ์ มันเดลาได้เข้าโรงเรียนศาสนาของนิกายเวซเลียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระราชวัง ตามประเพณีของชาวเทมบู เขาต้องผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์เมื่ออายุ 16 ปี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่ Clarkebury Boarding Institute และสำเร็จอนุปริญญาในเวลาเพียง 2 ปีขณะที่หลักสูตรปกติต้องใช้เวลา 3 ปี มันเดลาเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์แทนตำแหน่งของบิดา ปี พ.ศ. 2480 มันเดลาย้ายไปเมืองเฮลด์ทาวน์ และเข้าเรียนในวิทยาลัยเวซเลียนที่ฟอร์ตโบฟอร์ต อันเป็นที่ซึ่งราชวงศ์เทมบูส่วนมากพำนักอยู่ เมื่ออายุได้ 19 ปี เขาเริ่มสนใจการชกมวยและการวิ่งแข่งที่โรงเรียน

หลังจากจบการศึกษา มันเดลาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ ที่ซึ่งเขาได้พบกับโอลิเวอร์ แทมโบ แทมโบกับมันเดลาได้เป็นเพื่อนร่วมงานและเพื่อนสนิทกันไปตลอดชีวิต มันเดลายังได้เป็นเพื่อนสนิทกับญาติคนหนึ่งชื่อ ไคเซอร์ (Kaiser "K.D.") มาตันซิมา ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์เทมบูฝั่งขวา และอยู่ในฐานะผู้สืบทอดแคว้นทรานส์คีย์ ด้วยตำแหน่งนี้ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวพันกับนโยบาย Bantustan การที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายนี้ทำให้เขากับมันเดลามีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน เมื่อมันเดลาเรียนจบชั้นปีที่หนึ่ง เขาได้เข้าร่วมในสภาผู้แทนนักศึกษา (Students' Representative Council หรือ SRC) เดินขบวนต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัย จนถูกไล่ออกและไม่ให้กลับมาอีก นอกจากจะยอมรับนโยบายของทางมหาวิทยาลัย มันเดลาจึงหันไปศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายหลักสูตรทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอน

หลังจากออกจากฟอร์ตแฮร์ไม่นาน กษัตริย์จองกินตาบาก็ประกาศจัดการแต่งงานให้กับมันเดลาและจัสติส (ราชโอรสและรัชทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์) เด็กหนุ่มทั้งสองไม่พอใจกับเรื่องนี้มาก จึงหนีออกไปยังเมืองโยฮันเนสเบิร์ก เมื่อไปถึงที่นั่น มันเดลาได้เริ่มทำงานเป็นยามเฝ้าเหมือง แต่ต่อมาไม่นานก็ถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างทราบมาว่าเขาเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่หนีมา หลังจากนั้นมันเดลาได้เข้าทำงานเป็นเสมียนตรวจเอกสารในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในโยฮันเนสเบิร์กที่มีชื่อว่า Witkin, Sidelsky and Edelman โดยอาศัยเส้นสายของเพื่อนและพี่เลี้ยง คือ วอลเตอร์ ซิซูลู ขณะกำลังทำงานที่นี่ มันเดลาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งแอฟริกาใต้โดยการเรียนทางไกล จากนั้นเขาศึกษาต่อทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมายที่ต่อมาได้ร่วมขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว เช่น โจ สโลโว, แฮร์รี่ ชวาร์ซ และ รูธ เฟิสต์ ระหว่างเวลานี้มันเดลาอาศัยอยู่ที่เมืองอเล็กซานดรา ทางตอนเหนือของโยฮันเนสเบิร์ก

กิจกรรมทางการเมือง
หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2491 ชัยชนะได้ตกเป็นของพรรคชาตินิยม (National Party) ซึ่งสนับสนุนนโยบายการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง มันเดลาเริ่มต้นเข้าร่วมมีบทบาททางการเมือง เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในโครงการรณรงค์ต่อต้านของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) ในปี พ.ศ. 2495 และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งมีหลักการพื้นฐานในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ระหว่างเวลานี้ มันเดลากับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้เปิดสำนักกฎหมาย Mandela and Tambo ขึ้น โดยให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชนผิวดำผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคาหรือด้วยราคาต่ำ

ผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของมันเดลาอย่างมากคือ มหาตมา คานธี ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ มันเดลาเคยไปเข้าร่วมการประชุมที่นิวเดลี ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม พ.ศ. 2550 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้ง สัตยคราหะ ของคานธี ในแอฟริกาใต้

มันเดลาเริ่มต้นจากการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลโดยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง แต่เขากับเพื่อนร่วมขบวนการกว่า 150 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ในข้อหากบฎ การไต่สวนคดีกบฎคราวนี้กินเวลายาวนานมากตั้งแต่ พ.ศ. 2499-2504 และสิ้นสุดลงโดยที่จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2495-2502 ได้เกิดการก่อตั้งขบวนการคนผิวดำกลุ่มใหม่ขึ้นเรียกว่า "กลุ่มนิยมแอฟริกัน" (Africanist) ขึ้นมาขัดขวางขบวนการเอเอ็นซีเดิม โดยเรียกร้องให้ทำการตอบโต้รัฐบาลของพรรคชาตินิยมอย่างรุนแรงขึ้น ผู้นำเอเอ็นซีในยุคนั้นภายใต้การนำของ อัลเบิร์ต ลูธูลี โอลิเวอร์ แทมโบ และวอลเตอร์ ซิซูลู รู้สึกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกันนั้นรุกหน้าเร็วเกินไป ทั้งยังบังอาจท้าทายอำนาจของพวกเขาด้วย ทางกลุ่มผู้นำของเอเอ็นซีได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มชนผิวขาวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มคนผิวสี (ลูกผสม) และพรรคการเมืองในอินเดีย ซึ่งเป็นการพยายามสร้างภาพพจน์ให้เหนือกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกัน ในปี พ.ศ. 2498 กลุ่มเอเอ็นซีถูกฉีกหน้าในที่ประชุม Freedom Charter Kliptown Conference โดยได้รับเพียงเสียงโหวตเดียวจากที่ประชุมกลุ่มพันธมิตร ด้วยในจำนวนเลขาธิการกลุ่มพันธมิตรทั้งห้ากลุ่มนั้นมีถึง 4 คนที่มีสัมพันธ์อย่างลับ ๆ กับพรรคเกิดใหม่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แอฟริกาใต้ (South African Communist Party; SACP) ซึ่งเป็นมิตรแข็งแรงอยู่กับทางฝ่ายมอสโก

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2502 ขบวนการเอเอ็นซีสูญเสียการสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์ ขณะที่กลุ่มนิยมแอฟริกันภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากกานา และการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเด่นชัดจากชนเผ่าบาโซโธซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่ทรานส์วาลล์ ได้แยกตัวออกไปเป็นกลุ่มแพนแอฟริกันนิสต์คองเกรส (Pan Africanist Congress; PAC) ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต โซบูเคว และ โพตลาโค เลบัลโล

กิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิวในปี พ.ศ. 2504 มันเดลาได้ร่วมริเริ่มและเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซี เรียกชื่อว่า Umkhonto we Sizwe (หมายถึง หอกแห่งชาติ บ้างเรียกย่อว่า MK) เขาจัดการให้มีการลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญทางราชการและทางทหารหลายแห่ง และใช้แผนการรบแบบกองโจรถ้าการลอบวางระเบิดล้มเหลว เพื่อให้ยุติการแบ่งแยกสีผิว[28] มันเดลายังจัดการระดมทุนให้กองกำลัง MK และทำการฝึกฝนทางทหารให้กลุ่มควบคู่กันไป

สมาชิกเอเอ็นซีคนหนึ่งคือ โวลฟี คาเดช เล่าถึงโครงการรณรงค์วางระเบิดที่นำโดยมันเดลาว่า : "ตอนที่รู้ว่าเราจะเริ่มลงมือในวันที่ 16 ธันวาคม 2504 โดยจะระเบิดสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกผิว เช่น สถานีโดยสาร ศาลปกครองท้องถิ่น และอะไรจำพวกนั้น... ที่ทำการไปรษณีย์ และ.. ที่ทำการรัฐบาล แต่เราต้องทำอย่างระวังเพื่อไม่ให้มีใครได้รับบาดเจ็บ ต้องไม่มีใครเสียชีวิต" มันเดลาพูดถึงโวลฟีว่า "ความรู้เรื่องการสู้รบและประสบการณ์ต่อสู้มือเปล่าของเขาจะช่วยฉันได้อย่างมาก"

มันเดลาพูดถึงการยกระดับการต่อต้านไปสู่การใช้กำลังอาวุธนี้เป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เขาคิดว่าการประท้วงคัดค้านการเหยียดผิวแบบสันติไม่สามารถและไม่มีวันประสบความสำเร็จได้

ช่วงต่อมาราวปี พ.ศ. 2523-2532 หน่วย MK ทำสงครามกองโจรกับนโยบายแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรงจนมีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก มันเดลายอมรับกับเอเอ็นซีในภายหลังว่า ในการทำสงครามต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในการที่คนในพรรคบางคนพยายามเอาเนื้อความที่ยืนยันความจริงข้อนี้ออกไปเสียจากรายงานของกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Truth and Reconciliation Commission)

ตราบถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 มันเดลาและสมาชิกพรรคเอเอ็นซีเป็นบุคคลต้องห้ามในการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา - เว้นแต่เพียงสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่แมนฮัตตัน - เนื่องมาจากการเป็นผู้ก่อการร้ายในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

การไต่สวนริโวเนียวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2505มันเดลาถูกจับหลังจากหลบหนีอยู่นาน 17 เดือน และถูกจำคุกที่เรือนจำโยฮันเนสเบิร์กฟอร์ต เนื่องจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลแก่ตำรวจความมั่นคงถึงถิ่นที่อยู่และการปลอมแปลงตัวของเขา สามวันต่อมาจึงมีการประกาศข้อกล่าวหาแก่เขาต่อหน้าศาลว่าเป็นผู้นำขบวนการประท้วงของคนงานในปี พ.ศ. 2504 และทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวาย วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 มันเดลาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี สองปีต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 คณะลูกขุนจึงได้ข้อสรุปโดยประเมินจากความสัมพันธ์ของเขากับขบวนการเอเอ็นซี

ขณะที่มันเดลาติดคุก ทางตำรวจก็สามารถจับกุมผู้นำคนสำคัญ ๆ ของเอเอ็นซีได้อีกที่ฟาร์มลิลลี่ส์ลิฟ ริโวเนีย ทางตอนเหนือของโยฮันเนสเบิร์ก เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 มันเดลาถูกกล่าวหาอีกครั้งในการไต่สวนริโวเนียโดยหัวหน้าอัยการ ดร. เพอร์ซี ยูทาร์ ด้วยความผิดอุกฉกรรจ์ฐานการก่อการร้าย (ซึ่งมันเดลายอมสารภาพ) และอาชญากรรมอื่น ๆ อันเปรียบได้กับการเป็นกบฎ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้อย่างง่ายดาย ข้อกล่าวหาที่สองนี้ยังรวมถึงการที่ฝ่ายจำเลยพยายามชักนำการรุกรานจากภายนอกมาสู่แอฟริกาใต้ ซึ่งมันเดลาปฏิเสธ

มันเดลาได้ขึ้นให้การในคอกจำเลยเมื่อตอนเปิดการไต่สวนในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่ศาลพรีโทเรียสุพรีม เขาได้ตีแผ่เหตุผลที่กลุ่มเอเอ็นซีจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรุนแรง คำให้การของเขาเผยว่ากลุ่มเอเอ็นซีได้พยายามใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวมาเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ชาร์เพวิลล์ จากเหตุการณ์นี้ร่วมกับการลงคะแนนเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศ และการสั่งแบนกลุ่มเอเอ็นซี ทำให้พวกเขาเหลือทางเลือกแต่เพียงการต่อต้านด้วยการลอบวางระเบิด เพราะการเลือกทำวิธีอื่นใดนอกไปจากนี้จะเป็นเสมือนการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข มันเดลายังคงอธิบายต่อไปอีกว่า พวกเขาได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ Umkhonto we Sizwe ขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะชี้ให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายของพรรคชาตินิยม หลังจากที่เศรษฐกิจในประเทศต้องถูกขู่เข็ญด้วยความไม่เต็มใจของนักลงทุนต่างชาติในการต้องเสี่ยงลงทุนในประเทศ เขาปิดการให้การด้วยถ้อยคำต่อไปนี้:

ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ได้อุทิศตัวเองแก่การต่อสู้เพื่อประชาชนแอฟริกัน ข้าพเจ้าต่อต้านผู้ปกครองผิวขาว และก็ต่อต้านผู้ปกครองผิวดำ ข้าพเจ้ายินดีต่อประชาธิปไตยอันเป็นอุดมคติและสังคมอันเสรี ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติและด้วยความเสมอภาค นี่คืออุดมคติอันข้าพเจ้าหวังจะมีชีวิตอยู่ให้ถึง แต่หากจำเป็น ข้าพเจ้าก็พร้อมจะตายเพื่ออุดมคตินี้

จำเลยในการไต่สวนคราวนี้รวมไปถึง แบรม ฟิสเชอร์, เวอร์นอน เบอร์รังกี, แฮร์รี่ ชวาร์ซ, โจเอล จอฟฟี, อาร์เทอร์ ชาสคัลสัน และ จอร์จ บิโซส ฮาโรลด์ แฮนสัน ได้เข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้ในภายหลังเพื่อขอลดหย่อนโทษ ทุกคนถูกตัดสินว่ามีความผิด ยกเว้นเพียง รัสตี้ เบิร์นสไตน์ พวกเขารอดจากโทษประหารชีวิตไปได้ แต่ก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตตั้งแต่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ข้อกล่าวหาในคดีนี้ยังรวมไปถึงการวางแผนโดยใช้อาวุธ และอีกสี่คดีเกี่ยวกับการลอบวางระเบิด ซึ่งมันเดลาให้การยอมรับ และการสมคบคิดกับต่างชาติเพื่อรุกรานแอฟริกาใต้ ซึ่งมันเดลาให้การปฏิเสธ



การถูกคุมขัง
เนลสัน มันเดลา ถูกจำคุกที่เกาะร็อบเบินเป็นเวลา 18 ปีจากจำนวนการติดคุกทั้งสิ้น 27 ปี ขณะอยู่ในคุก ชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มพูนมากขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้นำชนผิวดำคนสำคัญที่สุดในแอฟริกาใต้ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้น เขาต้องทำงานบนเกาะโดยการขุดเหมืองหินปูน กฎภายในคุกนี้มีง่าย ๆ นักโทษจะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ตามเชื้อชาติ โดยที่นักโทษผิวดำจะได้รับปันส่วนอาหารในสัดส่วนน้อยที่สุด แต่นักโทษการเมืองจะถูกแยกออกจากนักโทษอาชญากรรมทั่วไปและถือเป็นชั้นต่ำที่สุดยิ่งกว่านักโทษทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า "นักโทษกลุ่ม D" มันเดลาได้อธิบายว่า ทุก ๆ 6 เดือน เขาจะได้รับอนุญาตให้มีคนมาเยี่ยมได้หนึ่งคน และจดหมายหนึ่งฉบับเท่านั้น และเมื่อได้รับจดหมาย การส่งนั้นก็มักจะล่าช้าไปเป็นเวลานานมาก และยังถูกเซ็นเซอร์เสียจนแทบอ่านไม่ได้

ขณะอยู่ในคุก มันเดลาได้เรียนต่อกับมหาวิทยาลัยลอนดอนผ่านหลักสูตรทางไกล และได้รับปริญญาตรีสาขากฎหมาย ในภายหลังเขาได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยลอนดอนในการคัดเลือกปี พ.ศ. 2524 แต่ก็แพ้ให้แก่ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์

จากบันทึกความทรงจำของมันเดลาในปี พ.ศ. 2524 Inside BOSS นักสืบลับ กอร์ดอน วินเทอร์ ได้บรรยายส่วนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนการช่วยเหลือมันเดลาออกจากคุกในปี พ.ศ. 2512 วินเทอร์แทรกซึมเข้าไปในแผนนี้ในฐานะหน่วยสืบราชการลับของแอฟริกาใต้ ซึ่งต้องการให้มันเดลาหลบหนีออกจากคุกจะได้จัดการยิงเขาทิ้งเสียระหว่างการจับกุม แต่แผนนี้ถูกทำลายไปโดยหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 มันเดลาถูกย้ายจากเกาะร็อบเบินไปยังเรือนจำโพลส์มัวร์ พร้อมกับกลุ่มผู้นำอาวุโสของเอเอ็นซี คือ วอลเตอร์ ซิซูลู แอนดรูว์ มลังเกนี อาห์เหม็ด คาธราดา และเรย์มอนด์ มฮลาบา ซึ่งเชื่อว่าได้ทำไปเพื่อลดอิทธิพลจากเหล่าผู้นำอาวุโสเหล่านี้ที่มีต่อนักโทษผิวดำอายุน้อยรุ่นใหม่ที่ถูกขังอยู่ที่เกาะร็อบเบิน และจัดตั้งกลุ่มขึ้นเรียกว่า "มหาวิทยาลัยมันเดลา" อย่างไรก็ดี โคบี โคตซี รัฐมนตรีจากพรรคชาตินิยมกล่าวว่าการเคลื่อนย้ายคราวนี้ได้ทำให้เกิดการพบปะอย่างลับ ๆ ขึ้นระหว่างพวกเขากับรัฐบาลแอฟริกาใต้

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประธานาธิบดี พี.ดับเบิลยู. โบทา ได้เสนอเงื่อนไขในการปล่อยตัวมันเดลาให้เป็นอิสระ โดยให้ยกเลิกการต่อสู้โดยใช้อาวุธ โคตซีกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ล้วนคัดค้านโบทาเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ามันเดลาไม่มีวันจะยินยอมให้ขบวนการของเขาปลดอาวุธเพื่อแลกกับอิสรภาพส่วนตัว มันเดลาปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างไม่ไยดี และยังออกแถลงการณ์ผ่านบุตรสาวของเขา ซินด์ซี โดยกล่าวว่า "ฉันจะได้อิสรภาพแบบใดกันขณะที่องค์กรแห่งผองชนยังถูกย่ำยี? มีแต่เสรีชนเท่านั้นที่จะเจรจาได้ นักโทษไม่อาจทำสัญญาใดๆ ได้"

การพบปะครั้งแรกระหว่างมันเดลากับรัฐบาลพรรคชาตินิยมเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เมื่อโคบี โคตซี พบกับมันเดลาที่โรงพยาบาลโฟล์คสในเคปทาวน์ ขณะที่มันเดลาต้องไปรับการผ่าตัดต่อมลูกหมากที่นั่น[55] ตลอดเวลาสี่ปีต่อมา ก็มีการพบปะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายกันอีกหลายครั้ง เป็นพื้นฐานของการติดต่อและเจรจาต่อรองในลำดับถัด ๆ ไป แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างจริงจังมากนัก

ตลอดช่วงเวลาที่มันเดลาติดอยู่ในคุก มีแรงกดดันทั้งในท้องถิ่นและจากนานาชาติต่อรัฐบาลแอฟริกาใต้เพื่อให้ปล่อยตัวเขา ภายใต้คำขวัญที่ว่า Free Nelson Mandela! เมื่อถึงปี พ.ศ. 2532 ประเทศแอฟริกาใต้ก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อประธานาธิบดีโบทาป่วยหนักและถูกแทนที่ด้วย เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก และได้ประกาศปล่อยตัวมันเดลาเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533

การเจรจาต่อรองหลังจากที่มันเดลาได้รับการปล่อยตัวจากคุก เขาได้กลับมาเป็นผู้นำพรรคเอเอ็นซีระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 และนำพรรคเข้าสู่การเจรจาร่วมหลายพรรค ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งหลายชนชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ

ปี พ.ศ. 2534 พรรคเอเอ็นซีได้จัดการประชุมระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้หลังจากได้รับประกาศยกเลิกการแบนแล้ว และเลือกให้มันเดลาขึ้นเป็นประธานขององค์กร เพื่อนและสหายเก่าของเขาคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการภายใต้การลี้ภัยมาตลอดเวลาที่มันเดลาอยู่ในคุก ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นท่านประธานแห่งชาติ (National Chairperson)

บทบาทการเป็นผู้นำของมันเดลาในการเจรจาร่วมกันกับประธานาธิบดี เอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก เป็นที่ประจักษ์อย่างโดดเด่น และทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2536 อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างคนทั้งสองในบางคราวก็ค่อนข้างตึงเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแลกหมัดครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2534 ซึ่งเขาเอ่ยถึงเดอ เคลิร์ก อย่างดุเดือดว่าเป็นหัวโจกของ "รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่มีความน่าเชื่อถือ และนอกกฎหมาย" การเจรจาแตกหักนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บัวปาตง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 มันเดลานำพรรคเอเอ็นซีออกจากการเจรจา และกล่าวหารัฐบาลของเดอ เคลิร์ก ว่าสมรู้ร่วมคิดกับการสังหารหมู่ครั้งนี้ แต่การเจรจาก็ได้หวนมาดำเนินสืบต่อหลังจากการสังหารหมู่ที่บิโช ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 เมื่อเหตุการณ์ส่อให้เห็นว่ามีแต่เพียงการเจรจากันเท่านั้นจะหลีกเลี่ยงการประจันหน้าที่รุนแรงลงไปได้

หลังจากการลอบสังหารผู้นำพรรคเอเอ็นซี คริส ฮานิ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 ก็มีภัยชนิดใหม่เกิดขึ้นที่อาจนำประเทศไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง มันเดลาได้กล่าวอ้อนวอนขอให้ประเทศอยู่ในความสงบ ในสุนทรพจน์คราวนั้นเรียกกันว่าเป็นสุนทรพจน์ "ของประธานาธิบดี" แม้ว่าเวลานั้นเขาจะยังไม่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

คืนนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ชาวแอฟริกาใต้ทุก ๆ คน ทั้งผิวดำหรือผิวขาว จากส่วนลึกแห่งจิตใจของข้าพเจ้าโดยแท้ ชายผิวขาวคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยอคติและความเกลียดชัง ได้มาถึงประเทศของเราและทำสิ่งที่เลวร้ายเหลือทนต่อประเทศของเรา ทำให้เรากำลังอยู่บนขอบอันหมิ่นเหม่ของหายนะ หญิงผิวขาวคนหนึ่งผู้มีกำเนิดเป็นชาวแอฟริกัน ได้เสี่ยงชีวิตของเธอเพื่อให้เราได้ตระหนักถึงการลอบสังหารนี้ และนำมาซึ่งความยุติธรรม ฆาตกรเลือดเย็นผู้สังหารคริส ฮานิ ได้ส่งคลื่นแห่งความอกสั่นขวัญหายแผ่ออกไปทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก... บัดนี้เป็นเวลาที่ชาวแอฟริกันทุกคนจะต้องยืนขึ้นอย่างพร้อมเพรียง เพื่อต่อต้านผู้ที่หมายจะทำลายในสิ่งที่คริส ฮานิ ได้สละชีวิตอุทิศให้ นั่นคือเสรีภาพของพวกเราทุกคน
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกในแอฟริกาใต้โดยที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสียงเท่ากัน เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 พรรคเอเอ็นซีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62% และมันเดลาในฐานะผู้นำพรรคเอเอ็นซีได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ โดยมี เดอ เคลิร์ก จากพรรคชาตินิยม และทาโบ มเบคี เป็นรองประธานาธิบดีทั้งสองคนในการตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติ เขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มันเดลาให้การสนับสนุนแก่ชาวแอฟริกันผิวดำให้เข้าร่วมและสนับสนุนทีมสปริงบอกส์ ซึ่งเป็นทีมชาติรักบี้ของแอฟริกาใต้ ในโอกาสที่ประเทศแอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้โลกในปี พ.ศ. 2538 หลังจากทีมสปริงบอกส์สามารถเอาชนะทีมรักบี้จากนิวซีแลนด์ได้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ มันเดลาเป็นผู้มอบถ้วยรางวัลให้แก่กัปตันทีม ฟรังซัวส์ ปีเยนาร์ ชาวแอฟริกันซึ่งสวมเสื้อทีมสปริงบอกส์กับตัวเลข 6 บนหลังซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของเขา ภาพนี้เผยแพร่ไปทั่วไปในฐานะก้าวย่างอันสำคัญแห่งการสมานฉันท์ระหว่างชนผิวขาวและผิวดำในแอฟริกาใต้

หลังจากที่เป็นประธานาธิบดี สัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของมันเดลาคือการสวมเสื้อบาติก ที่เรียกกันว่า "เสื้อมาดิบา" แม้กระทั่งในงานพิธีการต่าง ๆ ในการปฏิบัติการทางทหารของแอฟริกาใต้ครั้งแรกหลังจากยุติการแบ่งแยกสีผิว มันเดลาสั่งการให้กองทัพเคลื่อนเข้าไปเลโซโท ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 เพื่อช่วยปกป้องรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Pakalitha Mosisili หลังจากที่มีการเลือกตั้งอันวุ่นวายและเกิดการประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ นักวิจารณ์จำนวนมากรวมถึงนักรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ เช่น เอ็ดวิน คาเมรอน ได้วิพากษ์วิจารณ์มันเดลาอย่างมากในความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลของเขากับการรับมือวิกฤตการณ์โรคเอดส์ หลังจากที่เขาเกษียณแล้ว มันเดลายอมรับว่าเขาทำให้ประเทศต้องผิดหวังเนื่องจากมิได้ให้ความสำคัญกับการระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เท่าที่ควร นับแต่นั้นมันเดลาได้ขึ้นพูดในหลายโอกาสเพื่อรณรงค์ต่อต้านการแพร่กระจายของโรคเอดส์

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2537 รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (Reconstruction and Development Program; RDP) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนหลังสิ้นสุดยุคของอาพาร์ไทด์ ซึ่งเคยมีแต่ความลำบากยากแค้นและไม่ได้รับการเหลียวแล ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาคด้วย ขนาดของโครงการนี้อาจเทียบได้กับ "New Deal" ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางการเมืองทุกองค์กร

ระหว่าง พ.ศ. 2537 ถึงต้นปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างบ้านอยู่อาศัยต้นทุนต่ำมากกว่า 1.1 ล้านหลัง เพื่อรองรับชาวแอฟริกาใต้ 5 ล้านคนจากจำนวนคนยากจน 12.5 ล้านคน ระหว่าง พ.ศ. 2537-2543 ชาวบ้านกว่า 4.9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาด อีกกว่า 1.75 ล้านครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ สัดส่วนครอบครัวชนบทที่เข้าถึงระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 42% ปี พ.ศ. 2542 มีครอบครัวที่ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ทำกิน 3550 ตารางกิโลเมตร จำนวน 39,000 ครอบครัว เมื่อเทียบกับวาระ 4 ปีของรัฐบาล ประชาชนได้รับที่ทำกินรวม 250,000 คน จากเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 ถึงปลายปี 2541 มีคลินิกใหม่ 500 แห่งเพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่พลเมือง 5 ล้านคน พร้อมโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอและตับอักเสบ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งช่วยให้เด็กๆ กว่า 8 ล้านคนมีชีวิตขึ้นมาสู่ระดับมาตรฐานภายในเวลา 2 ปี มีโครงการก่อสร้างถนนและระบบระบายน้ำ ช่วยสร้างงานแก่ประชาชน 240,000 คนตลอดเวลา 5 ปี อย่างไรก็ดี โครงการ RDP ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า กว่า 30% ของบ้านต้นทุนต่ำเหล่านั้นสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน ระบบจ่ายน้ำต้องขึ้นกับแม่น้ำและเขื่อนมากมาย และโครงการเว้นการเก็บเงินจากชาวชนบทผู้ยากจนก็ใช้เงินสูงมาก การจัดสรรที่ทำกินสามารถแจกจ่ายที่ดินออกไปได้จริงเพียง 1% และระบบสาธารณสุขไม่มีความสามารถพอจะต่อสู้กับการระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตเฉลี่ยของชาวแอฟริกาใต้ลดต่ำลงจาก 64.1% เป็น 53.2% ตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2541

การไต่สวนคดีล็อกเคอร์บี
ประธานาธิบดีมันเดลามีความสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอันยาวนานระหว่าง กัดดาฟี แห่งลิเบีย กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยการร้องขอให้มีการไต่สวนผู้ต้องหาชาวลิเบีย 2 คนซึ่งถูกฟ้องร้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ในข้อหาวางระเบิดสายการบิน แพน แอม เที่ยวบิน 103 ที่ระเบิดที่เมืองล็อกเคอร์บีในสก๊อตแลนด์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 270 คน ช่วงต้นปี พ.ศ. 2535 มันเดลาได้แจ้งข้อเสนออย่างเป็นทางการต่อประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เพื่อขอให้ชาวลิเบียทั้งสองได้รับการไต่สวนในประเทศที่สาม บุชตอบรับข้อเสนอนี้อย่างยินดี เช่นกันกับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ แห่งฝรั่งเศส และกษัตริย์ ควน การ์โลส ที่ 1 แห่งสเปน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 - หกเดือนหลังจากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี - มันเดลาได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการว่า ประเทศแอฟริกาใต้ควรเป็นผู้จัดการไต่สวนคดีวางระเบิดสายการบิน แพน แอม 103

ทว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ ปฏิเสธข้อเสนอนี้โดยกล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษไม่มีความมั่นใจในการไต่สวนของศาลต่างประเทศ เวลาล่วงผ่านไปอีก 3 ปีจนกระทั่งมันเดลายื่นข้อเสนออีกครั้งต่อผู้สืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ คือ โทนี แบลร์ ในคราวที่ท่านประธานาธิบดีไปเยือนลอนดอน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ถัดมาในปีเดียวกัน ในที่ประชุม การประชุมกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth Heads of Government Meeting หรือ CHOGM) ที่เมืองเอดินบะระ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 มันเดลาก็กล่าวเตือนว่า :

ประเทศหนึ่งประเทศใดไม่ควรเป็นทั้งผู้ร้องทุกข์ อัยการ และผู้พิพากษาในคราวเดียว


ข้อสรุปอันประนีประนอมได้ความว่าการไต่สวนจะจัดขึ้นที่ Camp Zeist ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้กฎหมายของสก๊อต ประธานาธิบดีมันเดลาเริ่มการเจรจากับนายพลกัดดาฟีให้ส่งมอบตัวผู้ต้องหา (เมกราฮี กับฟีห์มาห์) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2542 เมื่อสิ้นสุดการไต่สวนอันยาวนานกว่า 9 เดือน มีการประกาศคำตัดสินของคณะลูกขุนเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2544 ฟีห์มาห์ไม่มีความผิด แต่เมกราฮีมีความผิดและต้องโทษจำคุก 27 ปีในเรือนจำของสก๊อตแลนด์ คำอุทธรณ์ครั้งแรกของเมกราฮีถูกปฏิเสธเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 อดีตประธานาธิบดีมันเดลาได้เดินทางไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำบาร์ลินนี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545

"เมกราฮีโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง" มันเดลากล่าวในการแถลงข่าวสั้น ๆ ที่ห้องเยี่ยมของเรือนจำ "เขาไม่สามารถคุยกับใครได้เลย มันเป็นการประหารทางจิตใจแท้ๆ เมื่อคนๆ หนึ่งจะต้องใช้ชีวิตของเขาในการรับโทษอันยาวนานโดยอยู่เพียงลำพังคนเดียว คงจะดีกว่านี้หากเขาได้รับอนุญาตให้ย้ายไปอยู่ในประเทศมุสลิม มีประเทศมุสลิมมากมายที่ทางฝั่งตะวันตกเชื่อใจได้ ครอบครัวของเขาจะได้ไปเยี่ยมเขาได้บ้างหากเขาอยู่ในประเทศ เช่น โมร็อกโก ตูนิเซีย หรืออียิปต์"


ในเวลาต่อมา เมกราฮีได้ย้ายไปยังเรือนจำกรีน็อค และไม่ต้องถูกขังเดี่ยวอีกต่อไป วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะกรรมการทบทวนคดีอาชญากรรมแห่งสก๊อตแลนด์ (Scottish Criminal Cases Review Commission) ได้มีข้อสรุปว่า หลังจากทบทวนการตัดสินโทษของเมกราฮีเป็นเวลา 3 ปี เชื่อได้ว่ามีการตัดสินลงโทษแก่ผู้มิได้กระทำความผิดจริง อ้างตามคำอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จากศาลอุทธรณ์คดีอาชญากรรม



-----------------------

เยอะจัง.....แค่นี้ก่อนนะคะ ^^
เชิญอ่านต่อได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น