วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีประโยชน์แค่ไหน???



บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายอย่างไร
                ชาวเอเชียนั้นว่ากันว่าบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันเป็นบ้าเป็นหลัง เหตุผลง่ายๆก็คือ ราคาถูก ไม่ต้องใช้เวลาเตรียมมาก และอิ่มท้อง เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็ชอบรับประทาน อุตสาหกรรมบะหมี่สำเร็จรูปจึงเติบโตอย่างไม่น่าเชื่อ เห็นได้จากในท้องตลาดมีหลากหลายยี่ห้อจนนับไม่ถ้วน และด้วยรูปลักษณ์ต่าง ๆ กัน จุดขายต่าง ๆ กันไป นับตั้งแต่ขายเสียงหมูสับ ไปจนถึงยี่ห้อเอาเร็วเข้าว่าจะมัวช้าสับหมูอยู่ไย

                ถ้าถามว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ หลายคนคงมีคำตอบอยู่แล้วในใจ เรียกว่ารู้ดีอยู่ว่าไม่ควรรับประทานทุกวันเป็นแน่ แต่บางครั้งก็อดใจไม่ไหว บางทีก็ขี้เกียจทำอาหารหรือขี้เกียจออกมาซื้อหาอาหารรับประทาน ที่แน่ๆก็คือ หนุ่มสาวในวัยศึกษาโดยเฉพาะพวกที่อยู่หอพัก ดูหนังสือดึก ๆ ก็ต้มรับประทานคลายหิวไปได้

                หากเราลองมาดูส่วนประกอบในฉลาก จะพบว่าส่วนประกอบหลักเลยก็คือแป้ง ซึ่งให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แหล่งพลังงานหลักของเรา ถ้าไม่มีคาร์โบไฮเดรตร่างกายต้องดึงไขมันสะสมมาใช้ พอไขมันหมดก็ไปเอาโปรตีนมาจากกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็กำลังถูกเพ่งเล็งอยู่ว่าจะมีผลดีต่อร่างกายหรือไม่

                วารสารทางการแพทย์ Journal of the American Medical Association ได้ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบสูงกับโรคเบาหวาน พบว่า ขนมปังที่ทำจากแป้งขัดขาว มันฝรั่งบด และบะหมี่สำเร็จรูปนั้นมี glycemic indexes ซึ่งเป็นตัวชี้วัดค่าความสามารถในการทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่ผู้ศึกษาก็แนะนำว่า ไม่ได้ให้ผู้บริโภคตัดอาหารแป้งทั้งหมดออกไปจากสำรับ แต่ให้หันมารับประทานแป้งชนิดที่ไม่ขัดขาวแทน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น และควรรับประทานพืชผักใบเขียวให้มากขึ้น

                นอกจากแป้งแล้ว ส่วนประกอบในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมากรองลงมาก็คือ ไขมัน หลายท่านคงแปลกใจเพราะดูไม่ออกว่าไขมันมาจากไหน แต่ศาสตราจารย์ ฮาโรลด์ คอร์ค ผู้เชี่ยวชาญทางข้าวสาลีแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า นอกจากไขมันในรูปน้ำมันที่อยู่ในซองสำหรับปรุงรสแล้ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้วิธีทอดเส้นในน้ำมัน มีพียง 3-4% เท่านั้นที่อบแห้งโดยใช้ลมร้อน (air-drying) ซึ่งไม่มีการระบุไว้ในฉลากเพราะไม่ใช่จุดขายของสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่จึงมีน้ำมันอยู่ประมาณ 18 %

                แม้ว่าไขมันจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ทว่าผู้ผลิตมักใช้น้ำมันปาล์มซึ่งหาง่ายในแถบเอเชีย ราคาถูกและทำให้บะหมี่มีรสชาติดี แต่ไขมันจากน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวสูงก็ไม่เหมาะกับคนที่เเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ

                นอกจากนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีเกลือโปตัสเซียมคาร์บอเนตซึ่งทำให้เส้นบะหมี่มีสีเหลืองอ่อน ๆ น่ารับประทาน ทำให้เส้นเหนียวนุ่มไม่เละง่ายเมื่อถูกน้ำร้อน แต่ไม่มีคุณค่าทางอาหารและถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนเครื่องปรุงก็มีเกลือเป็นส่วนใหญ่ ถ้าผู้บริโภคที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ควรรับประทาน นอกจากนั้นก็มีสีปรุงแต่งอาหาร ผงชูรส ซึ่งบางคนอาจแพ้ได้ บะหมี่สำเร็จรูปที่ไม่มีผงชูรสก็มีเหมือนกันแต่ราคาแพงกว่าปกติประมาณ 25%

                ดร.เอ็ดมอนด์ ลี นักโภชนาการชาวฮ่องกงเตือนว่า แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางชนิดจะมีผักเป็นส่วนผสมอยู่บ้าง แต่ก็อย่าหวังพึ่งว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพราะจุดประสงค์ของผู้ผลิตคือแต่งหน้าให้ดูดีน่ารับประทานเฉย ๆ แต่เขาก็เข้าใจสำหรับคนที่ชอบรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่โตอะไร แม้เด็ก ๆ จะชอบรับประทาน แต่ผู้ใหญ่ก็คอยดูแลได้โดยการเติมไข่ใส่ผัก ให้บะหมี่ถ้วยนั้นมีโปรตีนและวิตามินเพิ่มขึ้น

                อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารให้หลากหลายเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเต็มที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เป็นอันตรายต่อใคร แต่ก็ควรรับประทานนาน ๆ ครั้งก็พอ ความจริงคงไม่มีใครตั้งหน้าตั้งตารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียวหากมีทางเลือกอื่น ยกเว้นคนติดเกาะหรือหลงป่าที่อยู่ในภาวะจำยอมเท่านั้นกระมัง

ที่มา : 
http://www.mongkoltemple.com/page02/variety025.html

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กำเนิด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน หิวๆแบบนี้ กิน "มาม่า" สักถ้วยดีมั้ยคะ? ว่าแล้วก็เลยอยากรู้ว่ามันมีที่มาิอย่างไรกัน คนเขียนเลยไปหาคำตอบมาฝากกันค่ะ ^^






อาหารช่วยชีวิตเวลาหิวของใครหลายคน บางคนนำไปปรับปรุงดัดแปลงเพิ่มความน่าทานตามใจชอบ แต่บางท่านก็ทานเพราะความจำเป็น วันนี้จึงขอพาไปรู้จักกับที่มาที่ไปของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกัน
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ "มาม่า" ที่คนไทยชอบเรียกกันจนเคยชิน อาหารสำเร็จรูปสุดสะดวก แทบทุกคนต้องเคยพึ่งพาเวลาไม่สามารถหาอาหารอื่น ๆ ทานได้ หรือบางท่านก็ตั้งใจปรุงใส่นั่นใส่นี่ หรือนำเอาไปผัดไปยำจนออกมาหน้าตาน่ารับประทาน แต่เคยรู้กันไหมว่า เจ้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้ มีต้นกำเนิดมาจากไหน
ผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรูปขึ้นมา คือ "อันโด โมโมฟุกุ" ชาวญี่ปุ่น ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทในกลุ่มนิชชิน ที่มาที่ไปก็มาจากในฤดูหนาวของโอซาก้า มีคนจำนวนมากต่างพากันไปต่อแถวรอกินราเม็นร้อน ๆ ท่ามกลางอากาศที่เย็นจัด อันโดรู้สึกเห็นใจจึงเกิดไอเดียบางอย่างขึ้น เมื่อปี ค.ศ.1958 โดยนำเส้นราเมนที่ได้จากการผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ มาทอดในน้ำมันปาล์มเพื่อไล่ความชื้นออกไป ทำให้เก็บไว้ได้นาน และแค่เพียงเติมน้ำร้อน เส้นก็จะคืนสภาพเดิม สามารถกินได้ทันที ไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติมเลย เพราะว่าเส้นผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่แล้ว จึงเกิดอาหารที่เรียกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ขึ้น บรรจุอยู่ในชามที่เรียกกันว่า "ด้ง" ซึ่งค่อนข้างใหญ่เทอะทะ ต่อมาในค.ศ. 1971 จึงพัฒนาให้รับประทานได้สะดวกยิ่งขึ้นในรูปแบบถ้วยสำเร็จรูปมีส้อมใส่ไว้ให้เสร็จสรรพ เวลาจะกินน้ำซุปก็สามารถยกถ้วยขึ้นมาซดได้เลย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมีวิธีทำที่สะดวกคือเพียงแค่เติมน้ำร้อนก็ทานได้ทันที และที่สำคัญมีราคาที่ไม่แพง ในปัจจุบันมีหลากหลายรสชาติ แล้วแต่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าจะคิดค้นขึ้นมาได้ และถึงแม้ "นิชชิน" จะเป็นเจ้าแรกของโลกที่ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา แต่ "มาม่า" เป็นยี่ห้อแรกที่คนไทยรู้จัก จึงเรียกกันจนติดปาก แม้จะมียี่ห้ออื่นเข้ามา แต่ก็ยังเรียก "มาม่า"จนถึงปัจจุบัน





                                                           


ที่มา : http://blog.eduzones.com/wigi/82273

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล



มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ด้วยการริเริ่มของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวฟโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครบ 100 ปี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถวายเป็นพระราชอนุสรณ์ และเพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณ แห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อมูลนิธิว่า มูลนิธิรางวัลมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” และได้เปลี่ยนแปลงเป็น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
1.     เผยแพร่พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
2.     มอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ
3.     มอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านการสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ
4.     ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
5.     ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

รายพระนามและรายนามคณะกรรมการมูลนิธิฯ
1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
องค์ประธาน
2. คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รองประธาน
3. ศ.นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ
เลขาธิการ
4. เลขาธิการพระราชวัง (นายแก้วขวัญ วัชโรทัย)
เหรัญญิก
5. ราชเลขาธิการ
กรรมการ
6. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
กรรมการ
7. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กรรมการ
8. นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
กรรมการ
9. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กรรมการ
10. อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการ
11. อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรรมการ
12. คณบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการ
13. คณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
กรรมการ
14. คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรรมการ
15. อธิบดีกรมสารนิเทศ
กรรมการ
16. ผู้อำนวยการกลุ่มการสาธารณสุขระหว่างประเทศ
กรรมการ
17. หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี
กรรมการ
18. ศ.นพ.ประเวศ วะสี
กรรมการ
19. ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
กรรมการ
20. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
กรรมการ
21. ศ.นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา
กรรมการ
22. นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์
กรรมการ
23. ศ.พญ. ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค
กรรมการ
24. หม่อมหลวงอนุพร เกษมสันต์
กรรมการ
25. ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่
กรรมการ
26. เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
กรรมการ
27.รศ.พญ. บุปผาชาติ จารุเสถียร
กรรมการ




รางวัลทางการแพทย์ มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์ อันก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ
รางวัลทางสาธารณสุข มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ
รางวัล มีการให้รางวัลเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 2 รางวัล คือ
รางวัลประกอบด้วย
  1. เหรียญรางวัล
  2. ประกาศนียบัตร
  3. เงินรางวัลๆ ละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2555)


ขั้นตอนการเสนอชื่อและตัดสินผู้ได้รับรางวัล
คณะบุคคล หรือองค์กรใด ๆ ทั่วโลก ส่งรายนามบุคคล กลุ่มบุคคลหรือ องค์กร ที่สมควรได้รับรางวัลถึงเลขาธิการ มูลนิธิฯ โดยกรอกแบบฟอร์มการเสนอชื่อแล้วส่งผ่านเว็บไซต์หรือทางไปรษณีย์
  1. คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ จะพิจารณา กลั่นกรองรายชื่อ สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม
  2. คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงระดับโลก พิจารณารายชื่อที่อยู่ในเกณฑ์การได้รับรางวัล นำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ
  3. คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ตัดสินผู้สมควรได้รับรางวัล


                             
                                            เหรียญรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5