วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

พระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทและมหายาน



พระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทและมหายาน
มีคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นจำนวนมากที่แสดงถึงจำนวนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า มีมากมายยิ่งนัก จนถึงกับมีคำพูดที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำว่า มีมากกว่าเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง ๔ ซึ่งแสดงว่ามีเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แต่พระพุทธเจ้าที่มีพระนามและพระประวัติปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนานั้นมีอยู่ไม่มากนัก สำหรับในบทนี้ จะได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าที่มีพระนามและพระประวัติปรากฏอยู่ในคัมภีร์อันพอที่จะสืบค้นได้ ทั้งพระพุทธเจ้าในอดีต ในปัจจุบัน และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต เพื่อที่จะได้ทำให้มองเห็นภาพว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นมีสภาวะแห่งการเกิดขึ้นมาอย่างไร ช่วงระยะเวลาแห่งการเกิดขึ้นห่างกันมากน้อยแค่ไหน และแต่ละพระองค์มีลักษณะที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เป็นลำดับไป

๑. พระพุทธเจ้าในอดีต
เรื่องราวอันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในอดีต มีกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายคัมภีร์ ทั้งที่เป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และหนังสือที่ท่านผู้เป็นปราชญ์ในแต่ละยุคได้รจนาไว้ ด้วยอ้างถึงพระสูตร ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ซึ่งพระโคตมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเป็นสัพพัญญู สมบูรณ์ด้วยทศพลญาณอันไม่ติดขัด ได้ทรงแสดงเรื่องเกี่ยวพระพุทธเจ้าในอดีตเหล่านี้ได้ด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เองแก่พระประยูรญาติ หมู่ภิกษุสงฆ์สาวก เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ณ นิโครธารามมหาวิหารใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำถ่ายทอดโดยการท่องในยุคแรก และจดจารึก เป็นตำราคัมภีร์ในภายหลัง จนสืบต่อมาถึงปัจจุบันนี้

อนึ่ง เนื่องด้วยพระโคตมพุทธเจ้า ยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ในอดีตพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์แรก คือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า และพระสรณังกรพุทธเจ้าแห่งสารมัณฑกัป เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้จึงมีเพียงเล็กน้อย ส่วนพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่มาภายหลังนั้น ได้ให้พุทธพยากรณ์แก่พระโคตมพุทธเจ้าไว้ทุกพระองค์ จึงมีประวัติเรื่องราวแสดงไว้มากกว่า ซึ่งพระประวัติของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์นั้นมี แต่จะขอนำเฉพาะรายชื่อของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหมด ๒๗ พระองค์ ดังต่อไปนี้

๑. พระตัณหังกรพุทธเจ้า

๒. พระเมธังกรพุทธเจ้า

๓. พระสรณังกรพุทธเจ้า

๔. พระทีปังกรพุทธเจ้า

๕. พระโกญทัญญพุทธเจ้า

๖. พระมังคลพุทธเจ้า

๗. พระสุมนพุทธเจ้า

๘. พระเรวตพุทธเจ้า

๙. พระโสภิตพุทธเจ้า

๑๐. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า

๑๑. พระปทุมพุทธเจ้า

๑๒. พระนารทพุทธจ้า

๑๓. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า

๑๔. พระสุเมธพุทธเจ้า

๑๕. พระสุชาตพุทธเจ้า

๑๖. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า

๑๗. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

๑๘. พระธัมทัสสีพุทธเจ้า

๑๙. พระสิทธัตถพุทธเจ้า

๒๐. พระติสสพุทธเจ้า

๒๑. พระปุสสพุทธเจ้า

๒๒. พระวิปัสสีพุทธเจ้า

๒๓. พระสิขีพุทธเจ้า

๒๔. พระเวสสภูพุทธเจ้า

๒๕. พระกกุสันธพุทธเจ้า

๒๖. พระโกนาคมนพุทธเจ้า

๒๗. พระกัสสปพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าทั้ง ๒๗ พระองค์ ดังที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ด้วยเหตุว่าทรงอุบัติขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และเมื่อยกเว้นพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์แรกแล้ว พระพุทธเจ้าในอดีตเหล่านี้ ได้ให้พุทธพยากรณ์แก่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น และการที่เรียกพระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทั้งที่ได้ดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วนั้น ก็ด้วยเหตุว่าแม้พระองค์จะปรินิพพานไปนานแล้วแต่พระศาสนาคือพระธรรมคำสอนยังดำรงอยู่ ในคัมภีร์สารัตถะสังคหะ แสดงไว้ว่า ตราบใดที่พระสารีริกธาตุมีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังปรากฏอยู่ ตราบนั้นชื่อว่าพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงอยู่ ต่อเมื่อใดอันตรธาน ๕ ประการ มีปริยัตติอันตรธานเป็นเบื้องต้น และมีธาตุอันตรธานเป็นเบื้องปลายได้เกิดขึ้นแล้วจึงจะชื่อว่าหมดยุคแห่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ

๑.พระโคตมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าในอนาคต มีจำนวน ๑๐ พระองค์

๑. พระศรีอาริยเมตไตรย

๒. พระรามะพุทธเจ้า

๓. พระธรรมราชพุทธเจ้า

๔. พระธรรมสามีพุทธเจ้า

๕. พระนารทพุทธเจ้า

๖. พระรังสีมุนีพุทธเจ้า

๗. พระเทวเทพพุทธเจ้า

๘. พระนรสีหพุทธเจ้า

๙. พระติสสพุทธเจ้า

๑๐. พระสุมังคลพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนามหายานพระพุทธศาสนามหายาน ได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ อันเป็นผลของการรวมตัวกันของนิกายต่างๆ ในฝ่ายมหาสังฆิกะ ตั้งเป็นลัทธินิกายใหม่ เพื่อจะปรับปรุงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ สามารถที่จะแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์และฮินดู ซึ่งเริ่มกลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง

การปรับปรุงคำสอนของมหายานนั้น เป็นไปในสองแนว คือ แนวคิดที่ให้คนทุกคนปรารถนาพุทธภูมิ บำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ โดยมีพระบรมโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง และแนวแห่งการอธิบายพุทธธรรมโดยวิธีทางตรรกวิทยาและปรัชญา อันลึกซึ้งไพศาล

ความหมายของพระพุทธเจ้า
ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามหายานได้กล่าวถึงยาน ๓ ประการเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น อันได้แก่ สาวกยาน ปัจเจกยาน และ โพธิสัตวยาน โดยที่

สาวกยาน หมายถึง ยานของพระสาวกที่มุ่งสู่อรหัตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ ๔

ปัจเจกยาน หมายถึง ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้รู้แจ้งด้วยตนเอง แต่ไม่อาจแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นได้

โพธิสัตวยาน หมายถึง ยานของพระโพธิสัตว์ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วย พระมหากรุณาในสรรพสัตว์ ก้าวล่วงอรหัตภูมิ จึงกล่าวได้ว่าโพธิสัตวยานเป็นการสร้างเหตุอันมีพุทธภูมิเป็นผล หรือกล่าวได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิกายมหายานนั้นคือพระโพธิสัตว์ที่ได้สร้างบารมีมาด้วยการช่วยสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง

มหายานในยุคหลังได้แสดงไว้ว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถือกำเนิดมาจากองค์อาทิพุทธะซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ประถม และพระโพธิสัตว์ก็ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ลงมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ก็ดี ย่อมเกิดจากพระอาทิพุทธเจาทั้งสิ้น

ประเภทของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนามหายานได้แบ่งประเภทของพระพุทธเจ้ามหายานออกเป็น ๓ ประเภทคือ พระอาทิพุทธเจ้า พระฌานิพุทธเจ้า และ พระมานุษิพุทธเจ้า

พระอาทิพุทธเจ้า นั้นหมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ประถม เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าอื่นๆ รวมทั้งพระโพธิสัตว์และสรรพสิ่งต่างๆ เป็นผู้เกิดเองไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย

พระฌานิพุทธเจ้า เกิดขึ้นจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้า เป็นอุปปาติกะ ไม่ต้องมีบิดามารดาผู้ให้กำเนิด พระฌานิพุทธเจ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ แต่สถิตอยู่ในแดนพุทธเกษตร

พระมานุษิพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์

ถ้าหากมองให้ลึกลงไปแล้วพบว่า พระอาทิพุทธเจ้า พระฌานิพุทธเจ้า และพระมานุษิพุทธเจ้า ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะต่างถือกำเนิดจากอาทิพุทธเจ้าทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการแปลงรูปให้เหมาะกับการสั่งสอนสัตว์โลกเท่านั้น

ตรีกาย

ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมกล่าวถึงกายของพระพุทธเจ้าว่ามี ๒ คือ นิรมานกายและพระธรรมกาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป มหายานได้พัฒนากายที่ ๓ ขึ้นมา เรียกว่า สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายทิพย์

๑. นิรมาณกาย คือ กายที่ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้า คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนมนุษย์ทั่วไป มหายานเชื่อว่า พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกในสภาวะนิรมาณกายนี้ เพราะถูกเนรมิตจากสัมโภคกาย

๒. สัมโภคกาย คือกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีการแตกดับ อยู่ในสภาวะที่เป็นทิพย์ อยู่ชั่วนิรันดร์กาล

๓. ธรรมกาย มหายานหมายถึง สภาวะอันเป็นอมตะ เป็นสิ่งไร้รูป ไม่อาจรับรู้ด้วยอำนาจสัมผัส ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด

กายทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า ตามหลักสอนของมหายาน จึงมีความเป็นอันเดียวกัน แตกต่างกันเพียงสภาวะของการแสดงออก โดยนิรมาณกายนั้นเป็นการนิรมิตตน มาจากสัมโภคกาย และสัมโภคกายเป็นการนิรมิตตนมาจากธรรมกาย ถือว่าเป็นสภาวะอมตะนิรันดร และไม่อยู่ในการอธิบายใดๆ ทางโลกียวิสัย

โพธิสัตวจริยาเพื่อการบรรลุพุทธภูมิ

โพธิสัตวจริยาเพื่อการบรรลุพุทธภูมิ หมายถึงทางดำเนินของพระโพธิสัตว์ผู้ต้องการมุ่งต่อพุทธภูมิ โดยประพฤติตามหลักคำสอนที่เรียกว่า โพธิสัตวมรรค มีดังนี้คือ

๑. บารมี ๖ หมายถึงคุณธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือความสำเร็จต่างๆ ที่บุคคลได้ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้ คือ ทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี วิริยบารมี ฌานบารมี ปัญญาบารมี

๒. อัปปมัญญา ๔ คือการอบรมจิตให้มีคุณสมบัติอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ทำให้คุณสมบัติเหล่านี้แผ่ไปในสรรพสัตว์ทั้งปวงไม่มีประมาณ

๓. มหาปณิธาน ๔ คือ ความตั้งใจอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องมี คือ

๓.๑ เราจะต้องโปรดสัตว์ทั้งหลายให้หมดสิ้น

๓.๒ เราต้องทำลายกิเลสให้สิ้น

๓.๓ เราจะศึกษาพระธรรมทั้งหมดให้เจนจบ

๓.๔ เราจะต้องบรรลุพระพุทธภูมิให้จงได้

๔. คุณสมบัติ ๓ ประการคือ

๑. หลักมหาปัญญา เป็นผู้รู้แจ้งในสุญญตาทั้ง ๒ คือ บุคคลสุญญตา และ ธรรมสุญญตา พิจารณาเห็นความว่างในบุคคลและธรรม ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส

๒. หลักมหากรุณา คือ มีจิตใจกรุณาต่อสัตว์ไม่มีขอบเขต

๓. หลักมหาอุบาย คือ ต้องมีอุบายอันชาญฉลาด ในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ให้เข้าถึงธรรม

ประเภทของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งสู่พุทธภูมิ
คำว่า “ พระโพธิสัตว์” แปลว่า ผู้ข้องอยู่ในโพธิ์ คือความรู้ คือผู้จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในเบื้องหน้า ซึ่งมหายานแบ่งโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ ประเภทคือ

๑. พระฌานิโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่กำหนดไม่ได้ว่าเกิดเมื่อใด แต่เกิดก่อนพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นผู้บรรลุพุทธภูมิแล้วแต่ไม่ไปเพราะมุ่งจะช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์ จึงไม่เสด็จเข้านิพพาน พระฌานิโพธิสัตว์ที่สำคัญที่ควรทราบคือ

๑.๑ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ คุณธรรมพิเศษคือ มหากรุณา

๑.๒ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มีความสามารถพิเศษในการเทศนาให้คนเกิดปัญญา

๑.๓ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ สามารถรู้ถึงความต้องการทางสติปัญญาของสรรพสัตว์ ทรงมีปัญญาเยี่ยม ใช้ปัญญาทำลายอวิชชา

๑.๔ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความกรุณาหน้าที่สำคัญคือ การรื้อขนสัตว์ออกจากนรก

๑.๕ พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ มีสัญลักษณ์เด่นคือ ทรงสายฟ้าในพระหัตถ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟาดฟันกิเลส ตัณหาทั้งปวง

๒. พระมานุษิโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในสภาพมนุษย์ทั่วไป ยังต้องฝึกอบรมตนเอง และทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน

เปรียบเทียบแนวความคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน
สำหรับในหัวข้อนี้จะได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวความคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าของทั้งสองนิกายในแง่มุมต่าง ๆ โดยจะเน้นเปรียบเทียบหลัก ๕ ประเด็นหลัก คือประเด็นที่เกี่ยวกับประเภท จำนวน การสร้างบางมี เรื่องกาย และเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพาน ซึ่งจะได้สรุปแนวความคิดในแต่ละประเด็นของแต่ละนิกาย แล้วทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างในประเด็นนั้น ๆ ไปตามลำดับ

๑. การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีแนวความคิดในเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้าอยู่ว่า พระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ตามระยะเวลาของการสร้างบารมี ระดับของปัญญา ศรัทธาและความเพียรของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์โดยที่

พระพุทธเจ้าประเภทแรกเรียกว่า พระปัญญาธิกะพุทธเจ้า ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๒๐ อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีปัญญาแก่กล้าแต่มีศรัทธาน้อย

ประเภทที่ ๒ เรียกว่า พระสัทธาธิกะพุทธเจ้า ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๔๐ อสงไขยอีกหนึ่งแสนมหากัป เป้นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีศรัทธาแก่กล้าและมีปัญญาปานกลาง

และในประเภทที่ ๓ เรียกว่า พระวิริยาธิกะพุทธเจ้า ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๘๐ อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีความเพียรแก่กล้าแต่มีปัญญาน้อย

พระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดในเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้าอยู่ว่า พระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ตามสภาวะแห่งการเกิดขึ้น เพื่อความเหมาะสมของการสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยที่

พระพุทธเจ้าประเภทแรกเรียกว่า พระอาทิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เกิดขึ้นมาเองก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด จะหาเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้ เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด เป็นผู้ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งมวลที่บังเกิดมีอยู่ในสากลจักรวาลนี้

ส่วนประเภทที่ ๒ เรียกว่า พระฌานิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เกิดมาจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้า ทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์และปกครองดินแดนที่ชื่อว่า พุทธเกษตร

และในประเภทที่ ๓ เรียกว่า พระมานุษิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ถือกำเนิดมาจาพระฌานิพุทธเจ้า โดยแสดงตนออกมาในรูปของมนุษย์ธรรมดาและอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายในเร่งปฏิบัติธรรมด้วยความไม่ประมาท

๒. การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องจำนวนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีแนวความคิดในเรื่องจำนวนของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าในอดีตที่ผ่านมานั้น มีมากมายยิ่งนัก จนกระทั่งมีคำอุปมาไว้ว่า มีมากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรทั้งสี่ คือมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะนับประมาณได้ แนวความคิดเรื่องจำนวนของพระพุทธเจ้าในฝ่ายเถรวาทดังกล่าวนี้ เป็นแนวความอันชัดเจน หลักฐานยืนยันอยู่ในคัมภีร์หลายแห่ง

พระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดในเรื่องจำนวนของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากจนไม่อาจจะคิดคำนวณได้ เปรียบประดุจจำนวนเม็ดทรายในคงคานที อันใคร ๆ ไม่อาจจะคิดคำนวณเป็นปริมาณเม็ดได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าเหล่านี้ สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรในทิศต่าง ๆ แม้ปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่สั่งสอนสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลา

๓. การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า บุคคลผู้จะเป็นพุทธเจ้าจะต้องสร้างสมบุญบารมี ตามหมวดธรรมที่เรียกว่า พุทธการกธรรมหรือบารมี จนครบถ้วนเต็มบริบูรณ์ทั้ง ๓๐ ประการ ซึ่งระยะเวลาระหว่างการสร้างบารมีเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นตอน คือ

๑. ขั้นตอนที่คิดปรารถนาพุทธภูมิ แต่ยังมิได้เปล่งวาจา

๒. ขั้นตอนของการสร้างบารมีพร้อมด้วยการเปล่งวาจาปรารถนาพุทธภูมิ แต่ยังมิได้รับพุทธพยากรณ์

๓. และขั้นตอนตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จนถึงการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อบุคคลใดสร้างสมบารมีจนครบ ๓๐ ทัศ อันประกอบด้วยขั้นตอนทั้ง ๓ โดยบริบูรณ์แล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงพุทธภูมิบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า บุคคลผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า จะต้องดำเนินวิถีชีวิตตามหลักคำสอนที่เรียกว่า โพธิสัตวมรรค อันประกอบด้วยบารมี ๖ อัปปมัญญา ๔ มหาปณิธาน ๔ และคุณสมบัติ ๓ ซึ่งการที่ฝึกฝนอบรมให้คุณธรรมเหล่านี้มีวามเต็มเปี่ยมนั้น จะต้องใช้ความเพียรและความอดทนอย่างยิ่งยวด เป็นระยะเวลาอันยาวนาน เมื่อบารมีอันเกิดจาการปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าสู่พุทธภาวะเป็นพระพุทธเจ้า

๔. การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องกายของพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีแนวความคิดในเรื่องกายของพระพุทธเจ้าว่า กายของพระพุทธเจ้านั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท

๑. เรียกว่า นิรมาณกาย หมายถึง ส่วนที่เป็นกายมนุษย์ธรรมดา ซึ่งยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ สามารถสูญสลายไปเมื่อถึงกาลอันควร

๒. เรียกว่า กายธรรม หรือ ธรรมกาย หมายถึงคุณธรรมหรือพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งกายในส่วนนี้ ย่อมไม่มีวันสูญสลายไปเมื่อใดที่พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ย่อมสามารถที่จะสัมผัสกับพระกายในส่วนนี้ได้ตลอดไป

พระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดในเรื่องกายของพระพุทธเจ้าว่ากายของพระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

ประเภทแรก นิรมาณกาย หมายถึงกายของพระพุทธเจ้า ที่ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ยังมีการเกิด แก่ เจ็บและตายเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป นิรมาณกายนี้มหายานเชื่อว่า เป็นการเนรมิตขึ้นมาจากสัมโภคกาย เพื่อเป็นอุบายในการสั่งสอนสัตว์โลก

ประเภทที่ ๒ คือ สัมโภคกาย หมายถึง กายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า กายนี้จะไม่มีการแตกดับ อยู่ในสภาวะที่เป็นทิพย์ชั่วนิรันดร์สามารถแสดงตนให้ปรากฏแพระโพธิสัตว์ได้ และสามารถรับรู้คำอ้อนวอนสรรเสริญจากผู้ที่เลื่อมใสได้ สัมโภคกายนี้เองที่เนรมิตตนลงมาเป็นนิรมาณกายในโลกมนุษย์เพื่อการสั่งสอน ดังนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ พระพุทธเจ้าที่เคยอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ทุก ๆ พระองค์ ก็ยังดำรงอยู่ในสภาวะแห่งสัมโภคกายนี้มิได้สูญหายไปไหน

ส่วนกายประเภทที่ ๓ ก็คือ ธรรมกาย อันหมายถึง สภาวะอันเป็นอมตะเป็นสิ่งไร้รูป ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ทั้งไม่มีจุดกำเนิดและผู้สร้าง ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จักรวาลจะว่างเปล่าปราศจากทุกสิ่ง แต่ธรรมกายจะยังดำรงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด มหายานชื่อว่า ธรรมกายนี้เองที่แสดงตนออกมาในรูปของสัมโภคกายบนภาคพื้นสวรรค์ และสัมโภคกายก็จะแสดงตนออกมาในรูปของนิรมาณกายทำหน้าที่สั่งสอนสรรสัตว์ในโลกมนุษย์

๕. การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพาน

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว และธาตุอันตรธานได้เกิดขึ้นแล้ว พุทธภาวะย่อมเป็นสภาพว่างเปล่า ไม่มีสภาวะบัญญัติอื่นใดปรากฏอยู่ เราไม่สามรถจะหาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานไปแล้วได้ไม่ว่า ณ ที่ใดในจักวาลนี้

พุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพานว่า พระพุทธเจ้าเมื่อได้แสดงตนว่าปรินิพพานแล้วนั้น ที่จริงหาได้เป็นการสิ้นสุดของพุทธภาวะไม่ การปรินิพพานเป็นเพียงอุบายแห่งการสั่งสอนสรรพสัตว์เท่านั้น พระองค์ยังคงมีพุทธภาวะอยู่โดยสมบูรณ์ในรูปของสัมโภคกาย สามารถที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้ และจะดำรงอยู่เช่นนี้ตลอดชั่วกาลนาน จนกว่าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้หมด พระองค์จึงจะเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน

ที่มา : http://dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-09.htm



ป.ล.เห็นมันน่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงกับ "การบ้าน" ที่สั่งได้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเชื่อของคนเขียนเจ้าค่ะ

วันแม่ในประเทศต่างๆ

วันแม่เป็นวันหยุดเพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ๆ ทั้งหลาย ซึ่งวันแม่นั้นจะมีวันที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ความหมายของมันก็เหมือนกัน

ประวัติ ว่ากันว่าวันแม่นั้นถูกกำหนดขึ้นโดยชาวอเมริกัน โดยผู้ที่พยายามเรียกร้องให้มีวันแม่ก็คือ แอนนา เอ็ม จาร์วิส คุณครูในรัฐฟิลาเดลเฟีย เธอได้ใช้เวลาเรียกร้องถึง 2 ปี จนประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) ในสมัยประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และดอกไม้สำหรับวันแม่ของชาวอเมริกันก็คือดอกคาร์เนชั่น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่ให้ประดับตกแต่งบ้าน หรือประตูด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีขาว

วันแม่ในหลายส่วนของโลก
ในหลายๆ ประเทศวันแม่ได้เลียนแบบมาจากประเพณีของทางตะวันตก ซึ่งประเทศทางแถบแอฟริกันได้นำแนวคิดวันแม่มาจากพวกคนอังกฤษ ส่วนประเทศทางแถบเอเชียตะวันออก วันแม่ได้ถูกลอกเลียนแบบแนวคิดโดยตรงมาจากวันแม่ของประเทศอเมริกา ทั้งทางด้านการตลาดและการโฆษณา

คำว่าแม่ในภาษาต่างๆ
โดยทั่วไปคำว่า “แม่” ในแต่ละภาษามักจะใช้อักษร “ม” เหมือนกันหมด อาทิ ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า มาเธอร์(Mother) ภาษาสันสกฤตจะเรียกแม่ว่า มารดา ส่วนภาษาบาลีจะเรียกแม่ว่า มาตา

ส่วนทางด้านชนชาตินั้นก็จะมีการเรียกที่ใช้ “ม” เช่นกัน โดยคนไทยจะเรียกว่า แม่ คนจีนจะเรียกว่า ม่าม๊า คนแขกจะเรียกว่า มามี๊ ส่วนคนฝรั่งเศสจะเรียกว่า มามอง


วันแม่ในประเทศต่างๆ2 กุมภาพันธ์ ประเทศกรีซ
วันอาทิตย์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศนอร์เวย์
Shevat 30(อาจมีขึ้นในวันที่ 30 มกราคม และ 1 มีนาคม)ประเทศอิสราเอล
3 มีนาคม ประเทศจอร์เจีย
8 มีนาคม ประเทศอัฟกานิสถาน แอลเบเนีย† อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส† บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย† คาซัคสถาน† ลาว มาซิโดเนีย† มอลโดวา มอนเตเนโกร โรมาเนีย รัสเซีย† เซอร์เบีย และยูเครน†
วันอาทิตย์ที่สี่ในฤดูถือบวชเล็นท์ ประเทศไอร์แลนด์ ไนจีเรีย และสหราชอาณาจักร
21 มีนาคม(ฤดูใบไม้ผลิ วิษุวัต)ประเทศบาห์เรน อียิปต์ จอร์แดน คูเวต ลิเบีย เลบานอน โอมาน ปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน โซมาเลีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน (ประเทศ อาหรับทั้งหมด โดยปกติ)

เฮือก....เยออะ เดี๋ยวมาอัพต่อ >*<





http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88


http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86