วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรถึงจะเรียนภาษาให้รุ่ง แบบสั้นๆง่ายๆได้ใจความ โดย ศิษย์เก่า ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน วันนี้คนเขียนขอนำเสนออะไรที่ค่อนข้างฉีกแนวจากชาวบ้านนิ๊สนึง
(คนอื่นเขาอัพเรื่อง ดอกเลาบ้าง เรื่องแม่น้ำบ้าง คนเขียนก็อัพอย่างแน่นอนละค่ะ แต่คงไม่ใช่วันนี้)
เพราะวันนี้คนเขียนขอนำเสนอ วิธีการเรียนภาษายังไงให้รุ่งตามสไตล์(คนที่นับถือกันเหมือน)พี่ชายของคนเขียนเองซึ่งเป็นศิษย์เก่า คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น
นั่นก็คือ "พี่แบงค์ Kimura Cantabile" นั่นเอง
จริงๆคนเขียนก็เคยแนะนำให้รู้จักไปแล้วรอบหนึ่ง จากบทความ "ทำไมต้องเรียนดนตรี" นะคะ
ถึงแม้พี่เขาจะเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นมา (เรียนญี่ปุ่นตั้งแต่ ม.1 ได้ไปเป็นล่ามตอน ม.4) แต่ตอนมัธยมปลายเขากลับเลือกแผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส (สงกะสัย ตอนนั้นคงยังไม่มีศิลป์-ญี่ปุ่น - -") แล้วเขาก็ทำได้ดีซะด้วย จนตอนนี้เขาจบปริญญาโทแล้ว ยังไม่ลืมเลย แถมเก่งกว่าคนที่เรียนอยู่ปัจจุบัน (อย่างคนเขียน) อีกแหนะ ไวยากรณ์นี่เป๊ะจริงไรจริง 555+ -*- และไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส เท่านั้น ที่สามารถสื่อสารได้ ยังมี เยอรมัน เกาหลี และ อิตาเลียน แถมมาอีกต่างหาก (เที่ยวรอบโลกได้สบาย ไม่อดตายแน่ๆ หุหุ)

และพี่เขาก็เล่นไวโอลินและเชลโลเก่งด้วย เพลงที่ได้ยินอยู่ตอนนี้พี่เขาก็เป็นคนเล่นน่ะค่ะ (อยากเก่งแบบเขามั่งจัง หุหุ)

เกริ่นมาซะขนาดนี้ไปดูกันดีกว่า ว่าเขามีวิธีการเรียนอย่างไร.......

1.คัดลอกหนังสือเรียน ไวยากรณ์ คำศัพท์ ทุกเล่มที่มีมาถึงมือ
2.ฟังซีดี + วิดิโอ หนัง แล้วหัดพูด ทำแบบนี้ทุกวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือนเป็นอย่างน้อย
3.พูดกับตัวเอง เสมอๆ ด้วยภาษานั้นๆ ในสถานการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
4.อย่าเบื่อ


เห็นมะ ว่ามันสั้นๆง่ายๆจริงๆ อันที่จริง ไม่อยากจะเอ่ยเลยว่า ไอ้ 4 ข้อเนี้ย อาจารย์เกรียงไกรได้พูดไว้ก่อนที่คนเขียนจะได้รู้จักกับพี่แบงค์อีก มันช่างบังเอิญเสียนี่กะไร หุหุ

เห็นมั้ยละ ว่าถ้าเชื่ออาจารย์แล้วจะประสบความสำเร็จได้จริงๆ นี่ขนาดพี่เขาไม่รู้จักอาจารย์นะเนี่ย แค่เคยเห็นเว็บของอาจารย์บ้าง และมีวิธีการเรียนที่บังเอิญตรงกับที่อาจารย์ได้แนะนำลูกศิษย์เท่านั้น เขายังประสบความสำเร็จเลย ^^

ไอ้เรามันลูกศิษย์แท้ๆๆๆๆๆๆ กลับใกล้เกลือกินด่าง ต้องให้คนจากสมุทรสาครโน้น...มาตอกย้ำอีกครั้ง กว่าจะได้รู้จัก กว่าจะรู้ตัวและคิดนำมันไปใช้ประโยชน์ มันก็เกือบจะสายไปละ TTT^TTT

รู้สึกว่าบทความมันจะสั้นไป เลยขออนุญาตวิเคราะห์วิธีการนี้ดูนะคะ ว่าจะนำไปใช้กับตัวคนเขียนได้มากขนาดไหน...

ข้อแรก อาจารย์ก็บังคับให้คัดคำศัพท์กันตาลีตาเหลือกกันอยู่แล้ว แต่ขออนุญาตพูดตรงๆว่า มันไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่ เพราะนักเรียนก็แค่อดตาหลับขับตานอนคัดๆๆๆๆๆ ด้วยความกลัว และต้องการคะแนน แตไม่ได้นำศัพท์เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร (คัดไป 100 คำ จำกันได้ไม่เกิน 20 คำหรอก เชื่อสิ)แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรติดหัวเลยล่ะเนาะ

เพราะฉะนั้น คนเขียนจะขอปฏิวัติตัวเองใหม่เลยดีกว่า คัดเอง สรุปเอง เอาไว้อ่านเอง และเข้าใจเอง อย่างนั้นเลยดีมั้ยคะ แต่เซ็งตัวเองที่คนเขียนเป็นคนเขียนหนังสือช้าไปสักหน่อย พาลจะทำให้ขี้เกียจขึ้นน่ะสิ (แต่เอาวะ...ลองดูสักตั้งจะเป็นไรไป !!!!)

ข้อที่สอง อาจารย์ผู้แสนดีของเราก็อุตส่าห์ทุ่มเททำสื่อไว้ให้อย่างมากมาย คงจะไม่ลำบากอะไร (แค่คนเขียนไม่มีคอมเท่านั้นเอง แต่ก็บ่ยั่น อาจารย์ก็มีให้ใช้อีกนั่นละ 5555+)

ข้อสาม ออกจะยากส์สักหน่อย แต่ถ้าได้ทำตาม ข้อหนึ่ง และ สอง ได้สังเกตรูปแบบประโยค สำเนียง และไวยากรณ์ต่างๆ มาแล้ว ก็คงจะไม่ยากเกินความสามารถ 55555555+ ขออย่างเดียว มีความกล้าที่จะพูดก็เท่านั้นเอง

ข้อสุดท้าย ถ้าเรามีความรักในภาษาและมีความตั้งใจที่จะทำแล้ว ในช่วงแรกๆก็ต้องอดทนกับการที่จะต้องละความสบาย สลัดความขี้เกียจออกจากตัว แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้แล้ว ก็คงไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ...คนเขียนว่าข้อนี้แหละยากที่สุดแล้วววววววววววววววว

สรุปว่า...สิ่งที่ทั้งอาจารย์เกรียงไกรและพี่แบงค์ได้บอกคนเขียนมา น่าจะทำได้อย่างแน่นอน ขอแค่สลัดความขี้เกียจให้ออกเป็นพอ -*- หุหุ คำแนะนำก็มีแล้ว ตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จก็มีแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่ลงมือทำก็เท่านั้นเอง หวังว่าสักวันหนึ่ง คนเขียนจะประสบความสำเร็จได้บ้างนะคะ ^^

โฉมหน้าพี่แบงค์

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แม่น้ำมะขามเฒ่า...(ก็แม่น้ำท่าจีนนั่นละ -*-)

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน ไม่ได้อัพบล็อกไปเสียนาน (แตะคอมฯ ครั้งล่าสุด 30 ต.ค.) วันนี้เลยเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ตอบการบ้านที่ค้างคากันอยู่นะคะ ^^

ใครเคยได้ยินชื่อ "แม่น้ำมะขามเฒ่า" บ้าง คงไม่คุ้นหูกันใช่ไหมคะ แต่ถ้าบอกว่า "แม่น้ำท่าจีน" คงจะต้องร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน เรามารู้จักกับแม่น้ำสายนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ



แม่น้ำท่าจีน
แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำที่แยกตัวออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี กับ ฝั่งตะวันตกที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะไหลออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 325 กิโลเมตร แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกหลายชื่อ ดังนี้ ตอนที่ไหลผ่านจังหวัดชัยนาทเรียกว่า "แม่น้ำมะขามเฒ่า" ตอนที่ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกว่า "แม่น้ำสุพรรณบุรี" ตอนที่ผ่านจังหวัดนครปฐมเรียกว่า "แม่น้ำนครชัยศรี" ส่วนตอนที่ไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาครและไหลลงสู่อ่าวไทยเรียกว่า "แม่น้ำท่าจีน"

ลำน้ำสาขา

จังหวัดสมุทรสาคร
- คลองพิทยาลงกรณ์ หรือ คลองสรรพสามิต เป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
- คลองมหาชัย หรือ คลองสนามชัย ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่้งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านเขตบางขุนเทียน ออกสู่คลองด่าน (คลองบางหลวงน้อย) ที่เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา
- คลองสุนัขหอน หรือ คลองแม่กลอง ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านอำเภอบ้านแพ้ว ออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
- คลองดำเนินสะดวก ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านอำเภอบ้านแพ้ว อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ก่อนเชื่อมแม่น้ำแม่กลองที่ประตูน้ำบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
- คลองบางยาง ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนเชื่อมคลองดำเนินสะดวกที่ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
- คลองภาษีเจริญ ปากคลองจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านอำเภอกระทุ่มแบน เขตหนองแขม เขตบางแค เขตภาษีเจริญ ออกสู่คลองบางกอกใหญ่ และคลองบางขุนศรี ที่เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา

จังหวัดนครปฐม
- คลองบางแก้ว เป็นคลองธรรมชาติ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี มีสองสาขาคือ แยกซ้ายไปเชื่อมกับห้วยหลายสายจนถึงแม่น้ำแม่กลอง มีลำรางสระอ้อ เป็นทางเชื่อม ต่อมจากนั้นจึงเป็นคลองบางระกำ และต่อกับลำห้วยต่างๆ จนถึงแม่น้ำแม่กลอง ส่วนแยกขวาไปรวมกับคลองเจดีย์บูชา
- คลองมหาสวัสดิ์ อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองที่ขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อมแม่น้ำนครชัยศรี กับคลองบางกอกน้อย ที่บริเวณวัดชัยพฤกษ์มาลา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีความยาว 30 กิโลเมตร กว้าง 10 วา ขนานไปกับทางรถไฟสายใต้
- คลองเจดีย์บูชา อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปากคลองอยู่เหนือตลาดท่านาเล็กน้อย ยาวประมาณ 12 กิโลเมตร จากอำเภอนครชัยศรี ถึงอำเภอเมืองนครปฐม ขนานกับทางรถไฟสายใต้ คลองบางช่วงมีลำรางอยู่ก่อนแก้ว มีคลองบางแก้วมาบรรจบช่วงใกล้ถึงองค์พระปฐมเจดีย์
- คลองบางพระ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี เป็นคลองธรรมชาติ ไหลผ่านหลายตำบล เชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำนครชัยศรี เดิมปากคลองบางพระจะไหลไปบรรจบแม่น้ำแม่กลอง ที่บริเวณอำเภอท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันปากคลองถูกตัดขาด และเปิดให้รับน้ำจากคลองประปาที่ไหลมาจากเขื่อนวชิราลงกรณ์
- คลองพิสมัย อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี ระหว่างตำบลบางหลวง อำเภอนครชัยศรี กับอำเภอบางเลน เป็นคลองขุดยาวประมาณ 4 กิโลเมตร พระองค์เจ้าพิสมัยทรงริเริ่มให้ขุด ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร
- คลองทวีวัฒนา หรือคลองนราภิรมย์ อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี ปากคลองอยู่ที่ตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ไหลผ่านฝั่งซ้ายอำเภอบางเลน และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับฝั่งขวาที่อำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เข้าเขตกรุงเทพมหานครที่เขตทวีวัฒนา ก่อนออกสู่คลองภาษีเจริญที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
- คลองท่าสาร-บางปลา เป็นคลองธรรมชาติ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณหน้าวัดบางปลา หมู่ที่ 6 ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผ่านอำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน เข้าเขตจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนจะออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่อ่าวท่าสาร บริเวณบ้านท่าเรือ ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ชาวบ้านใช้ลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ เป็นเส้นทางการรบในอดีต และเป็นแหล่งน้ำสำหรับการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนทั้งบอุปโภค-บริโภคและประกอบอาชีพเกษตกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อคลองทอดผ่านหมู่บ้านใดนักเรียกชื่อตามหมู่บ้านนั้น เช่น จากอ่าวท่าสารมาเป็น คลองท่าสาร เมื่อมาถึงบ้านหมอสอเรียกว่า ลำหมอสอ ถึงบ้านห้วยปลากดเรียกว่า ห้วยปลากด ถึงบ้านรางเกตุเรียกว่า รางตาบุญ บ้านบ้านยางขาคีมเรียกว่าห้วยยาง ผ่านบ้านยางเรียกว่า คลองบ้านยาง ผ่านแหลมกระเจาเรียกว่า คลองแหลมกะเจา ผ่านลาดสะแกและบ้านเกาะแรดเรียกว่า คลองลาดสะแก
- คลองบางภาษี อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน บริเวณวัดบางภาษี ตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเดิมเป็นเขตตำบลบางภาษี อำเภอบางปลา ก่อนแบ่งออกเป็นสองตำบล และเปลี่ยนจากอำเภอบางปลาเป็นอำเภอบางเลนในปัจจุบัน ก่อนจะขนานไปกับเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างฝั่งซ้าย อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กับฝั่งขวา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะออกสู่คลองพระยาบันลือ
- คลองพระพิมลราชา เป็นคลองชลประทาน อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ปากคลองอยู่ที่ประตูน้ำพระพิมล ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผ่านคลองบางภาษี เข้าเขตจังหวัดนนทบุรีที่ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย ก่อนจะออกสู่คลองบางบัวทองที่ประตูน้ำบางบัวทอง ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งฝั่งขวาของคลองจะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณรอยต่อระหว่างตำบลท่าอิฐและตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรี
- คลองพระยาบันลือ เป็นคลองชลประทาน อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรี ปากคลองอยู่ที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บางช่วงขนานไปกับฝั่งทิศเหนือ ตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับฝั่งทิศใต้อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครอง ก่อนจะเข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยตรงที่ปากคลองบางภาษี ตำบลสามเมือง และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูน้ำสิงหนาถ ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา






การนำน้ำผลิตน้ำประปา
แม่น้ำท่าจีนเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาสำคัญของบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน)ซึ่งจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้แหล่งน้ำดิบบริเวณที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปาบางเลน หมู่ที่ 9 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ก่อนจะส่งจ่ายน้ำประปาที่ผ่านการผลิตไปยังสถานีจ่ายน้ำพุทธมณฑล ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และสถานีจ่ายน้ำมหาชัย ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะจ่ายน้ำไปยังผู้ใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม น้ำในแม่น้ำท่าจีนไม่ได้นำมาใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่การประปานครหลวงได้ก่อสร้างคลองประปาตะวันตก หรือคลองส่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 106 กิโลเมตร ซึ่งช่วงก่อนถึงแม่น้ำท่าจีนได้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเพื่อไม่ให้คุณภาพน้ำจากจุดรับน้ำดิบเปลี่ยนแปลง ก่อนจะเข้าสู่สถานีสูบน้ำดิบบางเลน ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ไปยังโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ต่อไป







สะพาน
ข้อมูลบางส่วนตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาคร ถึงจังหวัดนครปฐม (เรียงจากปากแม่น้ำท่าจีน)

- สะพานท่าจีน 1 ถนนพระรามที่ 2 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 พร้อมทางหลวงสายธนบุรี-ปากท่อ
- สะพานท่าจีน 3 ทางหลวงชนบท สค.4019 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2540
- สะพานพุทธมณฑลสาคร ต่อทางหลวงชนบท สค.4016-บ้านอำแพง ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว และตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554
- สะพานท่าจีน 2 ถนนสุคนธวิท และทางหลวงชนบท สค.4011 ตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว และ ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534
- สะพานบางยางรุ่งสินพัฒนา ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
- สะพานท่าจีน 4 ทางหลวงชนบท สค.4014 (ซอยวิรุณราษฎร์) ตำบลหนองนกไข่ และตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2542
- สะพานบุญรัฐประชานุวัฒน์ ตำบลสามพรานและตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เปิดใช้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2547
- สะพานโพธิ์แก้ว ถนนเพชรเกษม ตำบลโพธิ์แก้ว อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- สะพานมงคลรัฐประชานุกูล (วัดไร่ขิง) ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เปิดใช้เมื่อปี 2545
- สะพานหลังวัดทรงคนอง ตำบลทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ถนนบรมราชชนนี ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- สะพานหลวงพ่อย้อยอนุสรณ์ ตำบลขุนแก้ว และตำบลไทยาวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ทางหลวงชนบท นฐ.4047 ตำบลนครชัยศรีและตำบลไทยาวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- สะพานรวมเมฆ ทางหลวงชนบท นฐ.4006 (ถนนนครชัยศรี-ศาลายา) ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เปิดใช้เมื่อปี 2532
- สะพานเสาวภา ทางรถไฟสายใต้ ตำบลวัดแค และตำบลไทยาวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- สะพานสำโรง-ลานตากฟ้า ประชาร่วมใจ ตำบลวัดสำโรง และตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2550
- สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน (วัดห้วยพลู) ตำบลห้วยพลู อำเภอนครชัยศรี จ.นครปฐม
- สะพานหลวงพ่อเปิ่น ทางหลวงชนบท นฐ.4014 ตำบลบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- สะพานอุดมประชานารถวัฒนา ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2542
- สะพานแขวนข้ามแม่น้ำท่าจีน ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
- สะพานบางเลน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
- สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
- สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3422 ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

Le fluve Thachine traverse Chainat, Nakhonpathom, Supannburi et se jette sur la mer à Samutsakhon.